ตั้งรัฐบาลช้าฉุดความเชื่อมั่น หวั่นกระทบท่องเที่ยว! ทำรายได้หายแสนล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ตั้งรัฐบาลช้าฉุดความเชื่อมั่น หวั่นกระทบท่องเที่ยว! ทำรายได้หายแสนล้าน

Date Time: 5 ส.ค. 2566 06:32 น.

Summary

  • สทท. ชี้ตั้งรัฐบาลช้า ฉุดความเชื่อมั่น กระทบรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติหาย 1 แสนล้านบาท ขณะที่แอตต้าเผยเอกชนรอรัฐบาลใหม่ ออกนโยบายกระตุ้นท่องเที่ยว

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

สทท. ชี้ตั้งรัฐบาลช้า ฉุดความเชื่อมั่น กระทบรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติหาย 1 แสนล้านบาท ขณะที่แอตต้าเผยเอกชนรอรัฐบาลใหม่ ออกนโยบายกระตุ้นท่องเที่ยว ด้านหอการค้าไทยระบุยิ่งตั้งรัฐบาลช้า ยิ่งกระทบประเทศหนัก ชี้รัฐบาลใหม่ต้องเร่งจัดทำงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า ผลของการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ทำให้ สทท.ลดเป้าประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดปีนี้ลงมาเหลือ 28 ล้านคน จากเดิมที่ประเมินว่าจะได้ 28-30 ล้านคน ซึ่งจะทำให้รายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปราว 100,000 ล้านบาท ไม่ถึงเป้ารายได้ 2.38 ล้านล้านบาท ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประมาณการ ไว้ เนื่องความล่าช้าของงบประมาณที่จะมากระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซันหรือนอกฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) ขณะเดียวกันยังห่วงม็อบลงถนนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อ
นักท่องเที่ยวด้วย

ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ได้ตามเป้าประมาณการที่ 6 ล้านคน และ 7 ล้านคน ตามลำดับ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือไตรมาส 3 เพราะเป็นช่วงโลว์ซีซันไม่มีงบประมาณมากระตุ้นเพิ่มเติม ทำให้นักท่องเที่ยวหายไป ซึ่งเกรงว่าไตรมาส3 จำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะไม่ได้ตามเป้าที่ 8 ล้านคน หรือนักท่องเที่ยวหายไป 2 ล้านคน ส่วนไตรมาส4 มีโอกาสลุ้นที่จะได้นักท่องเที่ยว 9 ล้านคนตามเป้า เพราะเป็นช่วงไฮซีซัน ทำให้ภาพรวมทั้งปีน่าจะถึง 28 ล้านคนแต่ไม่ถึง 30 ล้านคน

ด้านนายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ากระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวอยู่แล้ว เพราะหลายเรื่องรอรัฐบาลใหม่มาแก้ปัญหา ฉะนั้นจะให้นักท่องเที่ยวมีแผนในการเดินทางท่องเที่ยว หรือภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่จะวางแผนการตลาดก็ต้องรอรัฐบาลใหม่มีนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งตอนนี้ก็กระทบมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มทัวร์ที่เข้ามาตอนนี้ยังไม่มากเท่าที่ควร ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเท่ากับสถานการณ์ปกติให้ได้ ซึ่งต้องรอนโยบายรัฐบาลใหม่มากระตุ้นตลาด เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดแรงจูงใจหรือสนใจที่จะมาท่องเที่ยวประเทศไทยหรือท่องเที่ยวประเทศอื่นแล้วเดินทางมาท่องเที่ยวไทยต่อ

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอให้พิจารณากรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และกำหนดวันนัดพิจารณาคำร้องวันที่ 16 ส.ค.นี้ ว่าถือเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจ ซึ่งศาลต้องใช้ดุลพินิจและข้อมูลต่างๆ อย่างรอบคอบและมองว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลและฟอร์มคณะรัฐมนตรี (ครม.)ชุดใหม่ ยังอยู่ในช่วงเวลาที่เคยประเมินไว้ ยังไม่ล่าช้าจนเกินไป

หากศาลมีคำสั่งว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเห็นว่ารัฐสภาได้ดำเนินการโดยชอบแล้ว เชื่อว่า หลังจากนั้นรัฐสภาคงให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุดต่อไป อาจเป็นวันที่ 17-18 ส.ค.คาดว่าจะได้ ครม.ชุดใหม่ ช่วงปลายเดือน ส.ค. ถึงกลางเดือน ก.ย.ก่อนจะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา “หากไทม์ไลน์เป็นไปตามนี้ ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่ ต้องเร่งจัดทำงบประมาณประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อดึงกำลังซื้อและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะตรงกับไตรมาส 4 ที่เป็นฤดูการท่องเที่ยวของไทย ที่หลายฝ่ายประเมินว่าจะเป็นจุดฟื้นของเศรษฐกิจปีนี้”

แต่หากศาลมีคำสั่งว่าการดำเนินการของรัฐสภาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และมีข้อวินิจฉัยเพิ่มเติมไปในแนวทางดังกล่าว ก็คงต้องรอความชัดเจนว่าจะส่งผลให้การเลือกนายกรัฐมนตรีมีทิศทางอย่างไร และต้องใช้เวลานานเพียงใด ซึ่งต้องมาประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง

สำหรับประเด็นที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลได้ยุติการร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเองนั้น หากเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลจนสำเร็จ น่าจะเร่งดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจได้ทันที เพราะเพื่อไทยเคยมีประสบการณ์ด้านบริหารประเทศมาก่อน และหลายนโยบายก็สามารถดำเนินการจนประสบความสำเร็จ ส่วนความเห็นต่างและการชุมนุม ถือเป็นสิทธิของประชาชน หากไม่มีการชุมนุมที่ยืดเยื้อหรือรุนแรง เชื่อว่าจะไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตได้ดี และเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย “สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในส่วนของภาคเอกชน ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็พร้อมทำงานร่วมกัน สิ่งสำคัญที่สุด คือ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งล่าช้า จะยิ่งไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ