กฟผ.เริ่มอ่วม! วอนรัฐอย่าเหนียวหนี้ จากการช่วยตรึงค่าเอฟที

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กฟผ.เริ่มอ่วม! วอนรัฐอย่าเหนียวหนี้ จากการช่วยตรึงค่าเอฟที

Date Time: 4 ส.ค. 2566 06:17 น.

Summary

  • กรณีค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 ยังคงอยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย ซึ่งมาจากการลดค่าเอฟทีลง 28.58 สตางค์ต่อหน่วย แม้ว่าทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลกเริ่มชะลอลงแล้ว

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ และโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงกรณีค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 ยังคงอยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย ซึ่งมาจากการลดค่าเอฟทีลง 28.58 สตางค์ต่อหน่วย แม้ว่าทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลกเริ่มชะลอลงแล้วว่าเหตุผลที่ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 อยู่ที่ 66.89 สตางค์ต่อหน่วยนั้น เป็นการลดลงของเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินสำหรับนำมาใช้ทยอยชําระคืนภาระเงินกู้ที่ กฟผ. กู้มาเพื่อรับภาระค่าเอฟทีในบางส่วนไว้เอง ช่วยตรึงค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนใช้จ่ายในราคาที่ไม่สูงเกินไป ช่วงที่ราคาพลังงานปรับตัวขึ้นสูงมากตั้งแต่เดือน ก.ย.2564-เม.ย.2566 เป็นต้นมา

“จากการช่วยตรึงค่าเอฟที เพื่อไม่ให้ค่าไฟสูงมากจนเป็นภาระของประชาชน ที่มากเกินไปในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ กฟผ.ต้องกู้เงินมาใช้ทั้งสิ้นประมาณ 150,000 ล้านบาท และจากการตกลงกัน รัฐบาลจะทยอยคืนเงินให้กับ กฟผ.ผ่านค่าเอฟที 7 งวด โดยที่ผ่านมาคืนมาให้แล้ว 2 งวด และจะทยอยคืนต่ออีก 5 งวด งวดละ 23,428 ล้านบาท ซึ่งทำให้คาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค.2566 มีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชําระคืนให้ กฟผ. 111,869 ล้านบาท และเมื่อมีการทยอยคืนต่อเนื่องจนครบ กฟผ.จะชำระคืนหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่กู้มาได้ภายในงวดเดือน เม.ย.ปี 2568”

ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า การที่ กฟผ.จำเป็นต้องขอให้รัฐบาลทยอยคืนเงินที่กู้มาเพื่อช่วยตรึงราคาค่าไฟในช่วงที่ผ่านมา ที่ราคาพลังงานขึ้นไปสูงมากนั้น เนื่องจาก กฟผ.มีความจำเป็นต้องทยอยคืนเงินต้น ตามงวดที่กู้ยืมมา หาก กฟผ.ไม่สามารถคืนเงินต้นได้ตามกำหนดก็จะกระทบกับอันดับความน่าเชื่อถือของ กฟผ.ทำให้การกู้เงินมาลงทุนหรือดำเนินโครงการต่างๆ ในระยะต่อไปทำได้ยากขึ้น หรือมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทั้งนี้ กฟผ.ยังจำเป็นต้องมีเงินสดในมือ มีสภาพคล่องเพื่อใช้จ่ายในการผลิตกระแสไฟฟ้า เรายังต้องจ่ายค่าพลังงานที่ซื้อมาผลิตไฟ และต้องใช้จ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มเติมในสายส่ง หรือการลงทุนโครงการอื่นๆเพื่อคงสถานะความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ