ความท้าทายเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ความท้าทายเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญ

Date Time: 2 ส.ค. 2566 11:00 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • ไทยกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างหลายเรื่องที่ต้องอาศัยการมองไกลของรัฐบาลใหม่ในการแก้ปัญหาฝังรากลึกในระบบเศรษฐกิจไทยมานาน เช่น การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ไร้บุตรหลาน หนี้ครัวเรือนสูงเกินระดับยั่งยืน และการขาดเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

Latest


ประเทศไทยกำลังเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจ ความล่าช้าของกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และความล่าช้าในการอนุมัติโครงการลงทุนใหม่ขนาดใหญ่ของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี ความกังวลดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความท้าทายที่รัฐบาลใหม่ต้องเจอ เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างหลายเรื่องที่ต้องอาศัยการมองไกลของรัฐบาลใหม่ในการแก้ปัญหาฝังรากลึกในระบบเศรษฐกิจไทยมานาน เช่น การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ไร้บุตรหลาน หนี้ครัวเรือนสูงเกินระดับยั่งยืน และการขาดเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

สังคมสูงวัยที่ไร้บุตรหลาน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยที่ต้องเร่งหาทางออก โดยไทยมีสัดส่วนผู้สูงวัยที่อายุเกิน 60 ปี ราว 19% ของประชากรทั้งหมดในปัจจุบัน สะท้อนว่าประเทศไทยอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ และคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดภายในปี 2577 สาเหตุหนึ่งเพราะคนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น

ขณะที่ อัตราเจริญพันธุ์ (Total fertility rate) ของไทยลดลงอย่างรวดเร็วจาก 1.62 ในปี 2553 สู่ระดับ 1.16 ในปี 2564 ซึ่งจัดว่าเป็นปีแรกที่ประเทศไทยเริ่มมีอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตายเป็นครั้งแรก ยิ่งส่งผลให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมไร้บุตรหลานเร็วขึ้น

การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไร้บุตรหลานมีแนวโน้มส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านหลายช่องทาง ทั้งในส่วนของกำลังแรงงานที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ภาครัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีเงินได้ลดลง ขณะที่กำลังแรงงานและภาครัฐจำเป็นต้องนำรายได้มาดูแลผู้สูงอายุในประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้ การขาดแคลนกำลังแรงงานอาจส่งผลต่อความน่าสนใจในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติของไทย รัฐบาลใหม่สามารถให้ความสำคัญกับการยกระดับผลิตภาพแรงงานไทย เพื่อทดแทนกำลังแรงงานที่มีแนวโน้มลดลงผ่านการพัฒนาระบบการศึกษา การเพิ่มทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต และกระบวนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับตามความต้องการของตลาด

หนี้ครัวเรือนสูงเกินระดับยั่งยืนที่ 80% ของ GDP เป็นปัจจัยกดดันการบริโภคครัวเรือนไทยในระยะยาว สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ณ ไตรมาสแรกของปี 2566 อยู่ที่ 90.6% นับว่าสูงมากเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น อีกทั้งตัวเลขนี้ยังไม่รวมหนี้นอกระบบที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอีกเรื่องในสังคมไทยมายาวนาน

จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคของ SCB EIC พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 63% เป็นผู้มีหนี้ นอกจากนี้ยังพบว่าลูกหนี้จำนวนมากยังมีความต้องการที่จะขอกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อนำเงินก้อนใหม่ไปชำระดอกเบี้ยและเงินต้นของหนี้ก้อนเดิม ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แตกต่างจากอดีตที่ส่วนใหญ่กู้เงินเพื่อนำมาชำระค่าอาหารและสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน

สะท้อนว่าปัญหาวงจรหนี้ครัวเรือนอาจรุนแรงขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และเมื่อลูกหนี้จำเป็นต้องนำรายได้ส่วนหนึ่งมาชำระหนี้แทนการจับจ่ายใช้สอย ย่อมส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐได้เล็งเห็นถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยและหนี้นอกระบบสูงเกินระดับยั่งยืน และพยายามแก้ไขปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด รัฐบาลชุดใหม่สามารถสานต่อความพยายามของหน่วยงานภาครัฐที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ ผ่านการออกแบบนโยบายเสริมสร้างทักษะทางการเงินครัวเรือนอย่างเป็นระบบตั้งแต่วัยเด็ก และการสนับสนุนกลไกภาครัฐให้ครัวเรือนเปราะบางสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้นเพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เรื้อรังและออกจากวงจรหนี้นอกระบบได้

การขาดเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เครื่องยนต์เก่าที่มีในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอแล้ว ในปัจจุบันภาคธุรกิจไทยอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดภายใต้ความเปราะบาง ทั้งจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ต้นทุนในการประกอบกิจการที่สูงขึ้น และทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง

โดย SCB EIC คาดว่าสัดส่วนบริษัทผีดิบหรือบริษัทที่มีอายุมากกว่า 10 ปี แต่ขาดความสามารถในการชำระหนี้เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปีติดต่อกันจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากถึง 16.8% ของบริษัททั้งหมดในปี 2566 เทียบกับ 5.6% ในช่วงก่อนวิกฤติโควิด โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs

หากพิจารณาหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market capitalization) 10 อันดับแรกภายในประเทศไทย พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ไม่ใช่กลุ่มบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S – Curve) ที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมีแนวโน้มจะเติบโตสูงมากในอนาคต จึงอาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวบนความเปราะบาง และขับเคลื่อนได้ด้วยเครื่องยนต์อุตสาหกรรมตัวเก่า ทำให้ประเทศไทยอาจพัฒนาไม่ทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของบริบทโลกที่กำลังเร่งขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมไทยยังต้องเผชิญความท้าทายระดับโลกอีกหลายประการ เช่น การแบ่งขั้วของห่วงโซ่อุปทานโลกที่จะทำให้เกิดกำแพงภาษีทางการค้าระหว่างประเทศและการย้ายฐานการผลิต แนวความคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะถูกนำมาใช้กำหนดมาตรฐานทางภาษีในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์หรือชิป แบตเตอรี่สมัยใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางอุตสาหกรรมตัวเก่าของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาเหล่านี้และได้กำหนดไว้ในแผนกลยุทธ์เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอนาคตทั้งจากในไทยและต่างประเทศไว้แล้ว เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

อย่างไรก็ดี รัฐบาลใหม่ควรเร่งผลักดันแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ให้สัมฤทธิ์ผล การกำหนดทิศทางนโยบายการต่างประเทศและการเจรจาทางการค้าเชิงรุก ตลอดจนการเร่งผ่อนคลายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ รวมถึงการเร่งพัฒนาทักษะแรงงานไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยไม่ตกขบวนร่วมเป็นผู้เล่นในห่วงโซ่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ของโลกได้

โดยสรุปแล้วความท้าทายเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญนั้นต้องอาศัยการมองการณ์ไกลให้เห็นถึงปัญหาระยะยาวของประเทศและวางแผนแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง.


บทความโดยปัณณวัฒน์ เภตรานนท์
Economist trainee
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
eic@scb.co.th | EIC Online: www.scbeic.com 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ