มหากาพย์ข้าวสต๊อกรัฐยังไม่จบ! คนซื้อไม่มารับมอบ-อคส.ประมูลซ้ำ 11 ส.ค.นี้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

มหากาพย์ข้าวสต๊อกรัฐยังไม่จบ! คนซื้อไม่มารับมอบ-อคส.ประมูลซ้ำ 11 ส.ค.นี้

Date Time: 2 ส.ค. 2566 06:52 น.

Summary

  • อคส.เตรียมเปิดประมูลข้าวสต๊อกรัฐ ที่ผู้ชนะประมูลครั้งล่าสุดเดือน ก.ย.65 ไม่มารับมอบ 1.5 หมื่นตัน วันที่ 11 ส.ค.นี้ หวังส่งมอบให้เสร็จในเดือน ก.ย.นี้ ส่วนข้าวที่เจ้าของคลังยึดหน่วง 2.1 หมื่นตัน

Latest

แก้ปมขายตรง-แชร์ลูกโซ่ คลังแย้มอยากให้ดีเอสไอดูแล กฎหมายฉ้อโกงแทน

อคส.เตรียมเปิดประมูลข้าวสต๊อกรัฐ ที่ผู้ชนะประมูลครั้งล่าสุดเดือน ก.ย.65 ไม่มารับมอบ 1.5 หมื่นตัน วันที่ 11 ส.ค.นี้ หวังส่งมอบให้เสร็จในเดือน ก.ย.นี้ ส่วนข้าวที่เจ้าของคลังยึดหน่วง 2.1 หมื่นตัน เดินหน้าฟ้องเรียกค่าเสียหาย และขอศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว เอาข้าวมาส่งมอบให้ผู้ซื้อ คาดเฉพาะโครงการจำนำข้าวปี 51-57 ที่ อคส.ไล่ฟ้องกว่า 1 พันคดี รัฐเสียหายนับล้านล้านบาท

นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า วันที่ 11 ส.ค.นี้ อคส.เตรียมนำข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลลอตสุดท้าย ที่เปิดประมูลไปแล้วเมื่อเดือน ก.ย.65 รวม 230,705.71 ตัน แต่ผู้ชนะประมูลไม่มารับมอบ หรือขนข้าวออกจากโกดัง 15,013.25 ตันหลังจากเกินกำหนดระยะเวลารับมอบ ซึ่ง อคส.ได้บอกเลิกสัญญา และเรียกค่าเสียจากผู้ชนะประมูลแล้วขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฎหมาย โดย อคส.จะนำมาเปิดประมูลใหม่ และส่งมอบให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ก.ย.65 อคส.ได้เปิดประมูลข้าวสารในสต๊อกจากโครงการรับจำนำลอตสุดท้ายรวม 230,705.71 ตัน ซึ่งเป็นข้าวในคลังกลาง นอกคลังกลาง และนอกบัญชี (โครงการปี 48/49) โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ข้าวสารเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 55, นาปีปี 55/56 และปี 56/57 มีทั้งข้าวเหนียว 10% ข้าวขาว 5% ข้าวขาว 10% ปลายข้าวขาว เอวัน เลิศ 2.ข้าวสารที่ขายเป็นการทั่วไป เป็นข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ปี 55/56 และ 3.ข้าวสารที่โกดังและคลังสินค้าค้างส่งมอบเข้าโกดังกลาง เป็นข้าวหอมมะลิ ข้าวท่อนหอมมะลิ และปลายข้าวขาว เอวัน เลิศ ปี 48/49 และปี 54/55

โดยหลังจากเปิดประมูลแล้ว มีผู้เสนอซื้อครบทั้งหมด และได้ราคาดี โดยขายได้ราคาเกือบ 1,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้กลับพบปัญหาผู้ชนะประมูลไม่มารับมอบข้าวออกจากโกดัง ยังเหลืออีก 55,362.42 ตัน คิดเป็น 24% ของปริมาณข้าวที่ประมูลได้ แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 ผู้ชนะประมูลไม่มารับมอบ รวม 15,013.25 ตัน ซึ่ง อคส.ได้บอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากผู้ซื้อ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฎหมาย โดยข้าวจำนวนนี้ อคส.จะนำมาประมูลใหม่วันที่ 11 ส.ค.นี้ และส่งมอบให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้

ส่วนกลุ่มที่ 2 รอการชดใช้จากบริษัทประกันภัย 19,076.75 ตัน เพราะข้าวเกิดความเสียหาย เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ซึ่งล่าสุดบริษัทประกันภัยได้ออกใบเคลมให้ครบหมดแล้ว อยู่ระหว่างการชำระเงินและส่งมอบให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ย.นี้ และกลุ่มที่ 3 เจ้าของคลังยึดหน่วง ไม่ปล่อยข้าวให้ผู้ชนะประมูล 21,272.42 ตัน เก็บอยู่ในคลัง 2 หลัง อคส.จะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเรียกค่าเสียหาย และขออำนาจศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อนำข้าวมาส่งมอบให้ผู้ซื้อต่อไป โดยเร็วๆ นี้ อัยการจะสรุปสำนวนฟ้อง 1 หลัง จำนวน 4,679.04 ตัน ส่วนอีก 1 หลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ

“แม้ว่าการดำเนินการระบายข้าวให้หมด จะเป็นไปด้วยความลำบากและมีอุปสรรคอย่างมาก แต่ อคส.จะสะสางปัญหาเหล่านี้ให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายเดิมคือภายในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อปิดบัญชีโครงการรับจำนำให้ได้ทั้งหมด และดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายให้เสร็จสิ้น มิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการมากไปกว่านี้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หาก อคส.สามารถขายข้าวทั้งหมดได้ และผู้ชนะประมูลชำระค่าสินค้าหมดแล้ว จึงจะสามารถปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี และนาปรังปีการผลิตตั้งแต่ปี 51-57 ในส่วนความรับผิดชอบของ อคส. เกิดการทุจริตในโครงการจากผู้เกี่ยวข้องจนทำให้รัฐเสียหายจำนวนมาก ซึ่ง อคส.ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งหมด 1,179 คดี ทั้งแพ่งและอาญา เรียกค่าเสียหาย 503,809 ล้านบาท แต่ยังมีความเสียหายอื่นๆ อีก ทั้งผลขาดทุนจากการขายข้าวได้ในราคาต่ำกว่าราคาจำนำ ค่าบริหารจัดการอื่นๆ เช่น ค่าเช่าโกดัง ค่าบำรุงรักษา ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีความเสียหายจากการทุจริตในโครงการรับจำนำสินค้าอื่นๆ อีก ทั้งมันสำปะหลังปี 51-57 ที่ อคส.ฟ้องร้องดำเนินคดี รวม 172 คดี ความเสียหาย 20,585 ล้านบาท, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 51-57 ที่ฟ้องรวม 5 คดี ความเสียหายกว่า 1,449 ล้านบาท และสินค้าเกษตรอื่นตั้งแต่ปี 24 อีก 20 คดี ความเสียหายกว่า 204 ล้านบาท คาดว่าเมื่อรวมกันแล้วน่าจะทำให้รัฐเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังมีการเอาผิดเจ้าหน้าที่ อคส. ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการจำนำสินค้าเกษตรด้วย โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ชี้มูลความผิดจำนวนมาก ซึ่งมีความผิดวินัยร้ายแรง ถึงขั้นไล่ออกแล้ว 18 ราย แต่ได้มีการฟ้องร้อง อคส.ต่อศาลแรงงาน รวม 6 คดี และศาลตัดสินให้กลับเข้าทำงานใน อคส. แล้ว 1 ราย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ