นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากด้านนโยบายและแผนของ ททท. ว่า ตามที่ ททท.วางเป้าหมายสร้างรายได้เข้าประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 ในปี 65 และปี 66 นั้น ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย หรือหลุดเป้าหมายในแง่ของรายได้ แต่ในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวเป็นไปตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม ททท.ยังคงตั้งเป้าหมายสูงไว้เช่นเดิม ถึงแม้หลุดเป้าไปบ้างก็ดีกว่าตั้งเป้าหมายต่ำ จะได้บริหารความเสี่ยง เพื่อแก้ไขปัญหาให้มากขึ้นด้วย รวมถึงจะได้ทุ่มเทสรรพกำลัง บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เพราะการท่องเที่ยว มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศหลังโควิด-19 ทั้งนี้ ในปี 62 ก่อนโควิด-19 ระบาด ไทยมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ และคนไทยเที่ยวในประเทศ รวม 3 ล้านล้านบาท ในปี 65 ตั้งเป้าสร้างรายได้ 50% ของปี 62 หรือ 1.5 ล้านล้านบาท แต่ทำได้ 1.23 ล้านล้านบาท คิดเป็น 94% จากเป้าหมาย ขณะที่ปี 66 ตั้งเป้าสร้างรายได้ 80% ของปี 62 หรือ 2.38 ล้านล้านบาท คาดว่า จะทำได้ 2.167 ล้านล้านบาท คิดเป็น 91.76% ส่วนปี 67 ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 100% ของปี 62 หรือ 3 ล้านล้านบาท
สำหรับปัจจัยที่ทำให้รายได้ไม่ถึงเป้าเพราะส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวระยะใกล้ รวมถึงสถานการณ์การบินที่ยังไม่กลับมาปกติ มีจำนวนเที่ยวบินน้อยกว่าก่อนโควิด-19 มาก ทำให้การท่องเที่ยวมีข้อจำกัด แต่เมื่อดูลึกลงไป จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา 11 ล้านคนในปี 65 สร้างรายได้ได้เกือบครึ่งหนึ่งของปี 62 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน ถ้าเปรียบเทียบในตอนนั้น ต้องใช้นักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 20 ล้านคนจึงจะได้รายได้จำนวนนี้ แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนสูงขึ้น
ส่วนปี 66 ที่หลุดเป้ารายได้ ไม่อยากโทษนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาไม่มากตามคาด เพราะประเด็นหลักอยู่ที่การบินยังไม่กลับมา ซึ่งต้องมาดูว่าเป้าหมายที่หลุดนั้นมากน้อยเท่าใด และเพราะเหตุใด ดังนั้น ปี 67 ต้องเอาประสบการณ์ปีที่ผ่านมา มาบริหารความเสี่ยง ซึ่งปี 67 หลายฝ่ายมองว่าดอกเบี้ยขาขึ้นจะกระทบต่อการลงทุน การส่งออกมีแนวโน้มติดลบ เครื่องยนต์ที่จะดึงรายได้เข้าประเทศคือ การท่องเที่ยว ดังนั้น ททท. ต้องไปให้ถึงเป้าภายใต้การบริหารความเสี่ยงดังกล่าว เพราะเป็นความคาดหวังของทุกคน.