แม้ว่าอุปทาน-คำสั่งซื้อสินค้าไทยจากทั่วโลกอยู่ในภาวะซบเซา เนื่องจากภัยสงคราม และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อีกทั้งมีปัจจัยอัตราดอกเบี้ยท้าทาย ทำให้การส่งออกไทยติดลบ 9 เดือนติดต่อกันมาแล้ว ขณะที่ (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2566 การส่งออกไทยลดลง 5.4% มีมูลค่า 141,170.30 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.83 ล้านล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม พบข้อมูลการขายพื้นที่อุตสาหกรรมในประเทศไทยช่วงครึ่งปีแรกยังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ เผยว่า มาจากความต้องการของกลุ่มการลงทุนต่างประเทศ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง และรถยนต์ไฟฟ้า ที่ไทยได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์จีน Plus One ทำให้บริษัทบางแห่งย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยอย่างคับคั่ง
เจาะข้อมูล การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ได้รับอนุมัติ จาก BOI เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 มีทั้งสิ้น 613 โครงการ เพิ่มขึ้นจาก 327 โครงการจากปีก่อน และมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 171% อยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท
สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ทำให้มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่
พื้นที่อุตสาหกรรมโต โซน EEC ยังเบอร์ 1
ในแง่พื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุนนั้นพบว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IEAT) ได้อนุมัติโครงการใหม่ 2 โครงการ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์ กรีน และนิคมอุตสาหกรรมหนองละลอก ส่งผลให้จำนวนพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อขายหรือให้เช่าในนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 1.8% หรือ 3,215 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด 177,324 ไร่
โดยมีโซนพื้นที่มาแรง ดังนี้
ปัจจุบัน พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มีการทำสัญญามากที่สุด รวมกว่า 3,756 ไร่ หรือ 85% ของสัญญาทั้งหมด สำคัญคือ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากประเทศจีน ซื้อที่ดินขนาดใหญ่ 600 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 นอกเขต EEC มีการขายหรือเช่าพื้นที่ 666 ไร่ โดยมีความต้องการเพิ่มขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการ และปราจีนบุรี
นอกจากนี้ ยังสังเกตเห็นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าหลายแห่งเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิต อย่าง MG, GWM, Foxconn, GAC AION และล่าสุด Neta ของ Hozon ซึ่งการลงทุนที่โดดเด่นเหล่านี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของประเทศไทยในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และตอกย้ำถึงจุดขายในฐานะทำเลทองของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
ราคาที่ดินอุตสาหกรรมพุ่ง แพงสุด เจโมโปลิส 16 ล้านต่อไร่
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก ไนท์แฟรงค์ เผยว่า ราคาเสนอขายเฉลี่ยของพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมากที่ 3.1% ขึ้นไปแตะ 5.9 ล้านบาทต่อไร่ โดยเฉพาะพื้นที่การผลิตหลัก 3 แห่ง
“ในเขต EEC ช่วงราคาเสนอขายยังคงกว้างที่สุดในบรรดาตลาดทั้งหมด ตั้งแต่ 2.5 ถึง 12.5 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และโลจิสติกส์ในภูมิภาค ส่วนราคาสูงสุดที่บันทึกไว้คือที่นิคมอุตสาหกรรมเจโมโปลิส สมุทรปราการ ที่ราคา 16 ล้านบาทต่อไร่”
จีน Plus One ตัวแปร หนุนต่างชาติตั้งโรงงานในไทย
กลยุทธ์จีน Plus One เริ่มเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย เนื่องจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน สร้างโอกาสการดึงดูดบริษัทต่างชาติที่กำลังมองหาที่ตั้งโรงงานนอกประเทศให้กับประเทศใกล้เคียง ประเทศไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงภายในภูมิภาค
เนื่องจากไทยมีอุตสาหกรรมการผลิตที่มั่นคง และมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ตัวอย่างบริษัทที่โดดเด่นที่มีการกระจายฐานการผลิต ได้แก่ โซนี่ ซึ่งได้ย้ายฐานการผลิตกล้องดิจิทัลเกือบทั้งหมดจากประเทศจีนมายังประเทศไทย อีกบริษัทหนึ่งคือ พานาโซนิค ซึ่งได้รวมและย้ายสายการผลิตสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไฮเทคอัจฉริยะ เช่น Programmable Logic Controllers (PLC) (คอมพิวเตอร์เฉพาะที่ใช้ในระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ เพื่อควบคุมและตรวจสอบเครื่องจักร และกระบวนการต่างๆ) สวิตช์อัตโนมัติ และผลิตภัณฑ์สาระบันเทิงจากจีนมาประเทศไทย.