นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกของปี 66 (ม.ค.-มิ.ย.) อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 326 ราย เงินลงทุน 48,927 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 3,222 คน เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 65 ทั้งจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่อนุญาตเพิ่มขึ้น 42 ราย หรือ 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อนุญาต 284 ราย แต่มูลค่าการลงทุนลดลง 21,022 ล้านบาท หรือลดลง 30% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ลงทุน 69,949 ล้านบาท และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 49 ราย หรือ 1% จาก 3,173 คน
สำหรับประเทศที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 74 ราย ลงทุน 17,527 ล้านบาท, สหรัฐฯ 59 ราย ลงทุน 2,913 ล้านบาท, สิงคโปร์ 53 ราย ลงทุน 6,916 ล้านบาท, จีน 24 ราย ลงทุน 11,505 ล้านบาท และ สมาพันธรัฐสวิส 14 ราย ลงทุน 1,857 ล้านบาท ส่วนธุรกิจที่เข้ามาลงทุน สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุน เช่น บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย, บริการบำรุงรักษาหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมบนชายฝั่ง, บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน การจัดการสำหรับโครงการรถไฟฟ้า เป็นต้น
ขณะที่การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ครึ่งแรกปี 66 มีจำนวน 61 ราย คิดเป็น 19% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุน 10,771 ล้านบาท คิดเป็น 22% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 26 ราย ลงทุน 4,344 ล้านบาท, จีน 9 ราย ลงทุน 752 ล้านบาท, เกาหลีใต้ 5 ราย ลงทุน 286 ล้านบาท และประเทศอื่นๆอีก 21 ราย ลงทุน 5,388 ล้านบาท.