แต่สถานการณ์ได้พลิกผันไปเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งนับเป็นวิกฤติที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ส่งผลกระทบแทบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสัดส่วนถึง 20-22% ต่อ GDP ทำให้นักท่องเที่ยวในปี 2563 และ 2564 เหลือแค่ 4 แสนคนเท่านั้น
ปัจจุบัน เมื่อโรคระบาดโควิดแปลงสภาพเป็นโรคประจำถิ่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้เดินหน้าส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวปี 2567 ประกาศเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทยสู่บทต่อไปที่ดีขึ้น (Moving forward to Better) ทั้งฝั่ง Supply และ Demand ด้วยหัวใจหลักของการสร้างระบบนิเวศใหม่ที่มีคุณค่า สมดุลและยั่งยืน พร้อมเสริมภูมิคุ้มกันสร้างความมั่นคงทางการท่องเที่ยว ก้าวสู่ High Value and Sustainable Tourism อย่างแท้จริง
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยข้อมูลว่าในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพียงแค่ 6 เดือนแรกของปี มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยแล้วกว่า 12.78 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 618,600 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งถือได้ว่าครึ่งปีแรกเกิน 10 ล้านคน และกำลังจะขึ้นไปสู่เป้าหมายประมาณ 25-30 ล้านคนภายในปีนี้
ส่วนการท่องเที่ยวในประเทศก็ถือได้ว่าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยอานิสงส์จากโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้คนออกไปท่องเที่ยว โดยมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเกือบ 70 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ประมาณ 325,900 ล้านบาท ทำให้มีรายได้รวมของทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติรวม 944,500 ล้านบาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวเลขที่อยู่ในทิศทางดี และสะท้อนให้เห็นว่าการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาสดใสทั้งในมิติของจำนวน และรายได้
ทั้งนี้ ททท. ได้ตั้งเป้าหมายอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ปี 2567 คาดว่าจะผลักดันรายได้ของภาคการท่องเที่ยวกลับมาประมาณ 80% เหมือนก่อนสถานการณ์การเผยแพร่ระบาดของโควิด-19 บนพื้นฐานของสถานการณ์ท่องเที่ยวที่มีปัจจัยเอื้ออำนวยในทุกด้าน (Best Case Scenario) ในระดับใกล้เคียงกับรายได้ที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้รับในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท โดยที่ในปีนี้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศรวมกันต้องไม่ต่ำกว่า 2.38 ล้านล้านบาท
แบ่งเป็นรายได้จากต่างประเทศ 1.92 ล้านล้านบาท ดึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 35 ล้านคน ขณะที่ตลาดในประเทศ สร้างรายได้หมุนเวียน 1.08 ล้านล้านบาท จากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย 200 ล้านคน-ครั้ง โดยรวมแล้วรายได้ปี 2567 จะอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท
ขณะเดียวกันก็จะต้องเผชิญกับความท้าทายในหลากหลายเรื่องทั้งเศรษฐกิจที่ถดถอย ปัญหาเงินเฟ้อ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมทั้ง การขึ้นอัตราดอกเบี้ย และวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความเสี่ยงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จะต้องเผชิญ ฉะนั้นในปี 2567 จึงจะต้องผลักดันให้ไทยไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
ผ่านการกำหนดทิศทางการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยว ปี 2567 ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ททท.ตั้งเป้าหมายตำแหน่งทางการตลาดที่จะขับเคลื่อนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก และปรับยุทธศาสตร์สู่การท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน
และอย่างที่ทราบกันดีว่าได้มีการปรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นในเชิงประสบการณ์มากขึ้น ดังนั้นอาจจะต้อง Unlock ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ทำให้คนอยากจะไปเที่ยวมากขึ้น ภายในปีนี้จึงตั้งใจจะเป็นไปตามเป้าหมาย 80% ส่วนในปีหน้าตั้งเป้าไว้ที่ 100% ขณะเดียวกันจะให้น้ำหนักในเรื่องของความยั่งยืนด้วย จึงมองว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่มีความท้าทาย
ส่วนสถานการณ์การเมืองคาดว่าไม่มีผลกับภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากในช่วงปลายปีจะเป็นต่างชาติซะส่วนใหญ่ ซึ่งมองว่าไม่น่าจะมีผลกระทบ แต่ที่น่าจับตามองว่าคือตลาดจีน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ได้ดี และบวกกับเพิ่งเปิดประเทศทำให้คนจีนอาจจะยังท่องเที่ยวน้อย
ดังนั้นตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ได้มีการแก้ปัญหาพร้อมกับอำนวยความสะดวกในการเข้าประเทศมากขึ้น และน่าจะเห็นสัดส่วนตัวเลขที่จะขยับเป็น 4-5 แสนคน ทั้งนี้ตั้งแต่วันชาติจนถึงไฮซีซั่นปลายปี คาดว่าจะเห็นคนจีนกลับมาไม่น้อยกว่า 6 แสนคน
ส่วนประเด็นที่ยังคงต้องติดตาม คือ ค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ความผันผวนของราคาพลังงาน ความต้องการออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของคนไทย และการทำตลาดของประเทศคู่แข่ง ปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งปัญหาจากภาวะสิ่งแวดล้อม
ขณะที่งบประมาณในการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว จะต้องดูนโยบายของรัฐบาลใหม่ แต่หากดูตามร่าง พ.ร.บ.เดิม งบประมาณที่ ททท. จะได้รับการจัดสรรจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่วงเงินประมาณ 5 พันล้านบาท ภายใต้งบประมาณปี 2567
ส่วนกรณี King The Land ฟีเวอร์ โปรโมต ของกิน รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวของไทยแบบจัดหนัก ปลุกกระแส Soft Power ทรงพลังนั้น ทางคณะถ่ายทำเกาหลีได้แจ้งขออนุญาตถ่ายทำกับ Thailand Film Office กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยได้รับอนุญาตถ่ายทำจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (TFO Thailand Film Office กรมการท่องเที่ยว) ซึ่งคนละหน่วยงานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. แต่อยู่ในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เช่นเดียวกัน
จึงนับได้ว่าเสน่ห์ของไทยในหลากหลายมุม ไปอยู่ในซีรีส์กองถ่ายต่างประเทศมาแล้วนับไม่ถ้วน หากมองผ่านเลนส์ของผู้สร้างหนังและซีรีส์เรื่องดัง ที่เลือกถ่ายทำฉากสำคัญทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ก็จะเห็นได้ว่าไทยยังคงมีดีในสายตาชาวโลก
และเรื่องทำนองนี้ก็เห็นจะมีบ่อยๆ อย่างซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ของทาง HBO Max ที่มีการคอนเฟิร์มแล้วว่าจะใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำหลัก รวมทั้ง The Childe เทพบุตรล่านรก ที่แปลง “กรุงเทพ” เป็น “มะนิลา” ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ททท. ก็ไม่ได้ส่งเสริมเฉพาะ King the land เท่านั้นแต่ในเอเชียตะวันออก เกาหลีใต้ ก็มีการส่งเสริมซีรีส์วายด้วยเช่นกัน โดยกระแส Soft Power นั้นจะต้องมองมุมที่จะเล่น ซึ่งไม่ได้ขายแค่อาหารได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังขายความหลากหลายของรสชาติ สถานที่ รวมทั้งวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คนที่สะท้อนให้เห็นความแตกต่างของแต่ละท้องถิ่น อีกทั้งเรื่องของภาพยนตร์จะต้องทำอย่างไรให้เป็นกระแส หากเป็นฟีเวอร์เหมือน K-POP ก็จะสร้างรายได้ได้มหาศาล เช่นเดียวกัน Festival ที่พยายามจะยกระดับสู่สากลมากขึ้น
ดังนั้นเทรนด์การท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต้องการคือ 1. ความ Exclusive 2.กระแสเที่ยวแบบรักษ์โลก ไม่เพียงเท่านั้น ททท. จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งของ Soft Power ของประเทศไทย ผ่านการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนในแคมเปญ Brand Collaboration : Amazing Thailand x 5F ซึ่งสอดรับกับความตั้งใจของ ททท. ที่มุ่งมั่นให้ปี 2567 เป็น Year of Meaningful Collaboration ที่พันธมิตรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะช่วยกันผลักดันให้เกิด Synergy เสริมกำลังซึ่งกันและกัน เกิดเป็น Super Power ที่จะผลักดันให้การท่องเที่ยวไทย สังคมไทยและคนไทยเติบโตไปด้วยกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน
สำหรับทิศทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ โดยมุ่งสร้างรายได้ของการท่องเที่ยว 10 ตลาดหลัก ได้แก่ ตลาดระยะใกล้ที่ 7 ตลาด ได้แก่ จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และเวียดนาม สำหรับตลาดระยะไกล ได้แก่ รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา การเพิ่มตลาดที่สร้างนักท่องเที่ยวเข้าไทยจำนวนมากกว่า 1 ล้านคนให้ได้ 8 ตลาด โดย ททท. วางแผนกระตุ้นตลาดด้วย 5 ทิศทางหลัก ได้แก่
1. เสริมภาพลักษณ์แบรนด์ท่องเที่ยวไทยด้านความยั่งยืน และใช้เป็นจุดขายใหม่ของประเทศไทย เน้นไม่สร้างภาระ แต่สร้างสาระรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและชุมชน (Travel with Care) กระจายรายได้อย่างทั่วถึง (Fair Income) และเสนออัตลักษณ์ท้องถิ่นเป็นจุดขาย (Encourage Identity & Biodiversity) รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Responsible Tourism)
2. รุกเปิดตลาดคุณภาพใหม่ให้ท่องเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โฟกัสตลาดใหม่ในภูมิภาคยุโรปและตะวันออกกลาง และขยายสู่กลุ่มตลาดย่อย ซึ่งเป็นผู้มีรายได้สูง อาทิ โปรแลนด์ ฯลฯ ทั้งนี้ คาดว่านักท่องเที่ยวจากซาอุดีอาระเบียจะเดินทางมาไทยไม่น้อยกว่า 150,000 คน และในปี 2567 ตั้งเป้าที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่ว่ากว่า 200,000-250,000 คน โดยที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพสูงที่มีรายได้ต่อหัวสูง และแนวโน้มการใช้จ่ายก็มีแนวโน้มสูงเช่นกัน
3. แสวงหาคู่ค้ารายใหม่และขยายความร่วมมือกับคู่ค้ารายใหญ่ในเวทีโลก เช่น Tourism Cares ของสหรัฐอเมริกา OTA ชั้นนำ หรือ Platform การชำระเงินยอดนิยมต่างๆ
4. ขยายการเดินทางเชื่อมโยงทางบกเข้าถึงประเทศไทย เช่น เส้นทางรถไฟความเร็วสูง จีน-เวียงจันทน์ (ลาว) - ไทย เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่ใช้ไม่ได้ ดังนั้นจะต้องเร่งขยายช่องทางการเข้าถึงจากประเทศเพื่อนบ้าน
5. ใช้ Digital Content เสริมพลังทางการตลาด เช่น เกาหลีใต้ ใช้ Virtual influencer คือ น้อง Rozy นำเสนอประสบการณ์ท่องเที่ยวไทยชวนนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย Gen Y – Z มาเที่ยวไทย