นักธุรกิจชี้ขบวนการเชือด “พิธา” ทำเป็นขั้นตอน สวนความรู้สึกและความหวังประชาชน ขณะที่ ส.อ.ท.-หอการค้ารับได้ศาลวินิจฉัยแบบไหน หรือใครเป็นนายกฯ ถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ห่วงตั้งรัฐบาลช้ากระทบความเชื่อมั่น-และการลงทุนใหม่ ด้านเอกชนท่องเที่ยวผวาหากเกิดชุมนุมทางการเมือง เป็นเหตุนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่มาไทย เรียกร้องจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นประชาชน และนักธุรกิจคนหนึ่ง โดยไม่เกี่ยวข้องกับ ส.อ.ท. มองว่า ทุกอย่างทำเป็นขั้น เป็นตอน หาทางลง ในการเชือดนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศวางมือทางการเมือง ไม่เกี่ยวกับการเมืองใดๆ ต่อมาวันที่ 12 ก.ค. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ คดีหุ้นไอทีวี ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่วนวันที่ 13 ก.ค. รัฐสภาลงมติโหวตนายกรัฐมนตรีมีทางถอยให้ ส.ว. หรือ ส.ส. ที่โหวตโนหรือไม่รับรองนายพิธา ซึ่งอยากถามว่า ประเทศไทยของเราบริหารกันแบบนี้เหรอ ช่างสวนทางความรู้สึก และความหวังของประชาชนหลายสิบล้านคนจริงๆ แล้วเศรษฐกิจของประเทศจะต้องหมักหมม รอคอย คนมาแก้ไขอีกนานเท่าไร
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และกลุ่มนักลงทุน กำลังจับตาการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นวันที่ 13 ก.ค. คาดหวังให้การโหวตเป็นไปด้วยความราบรื่นไร้ปัญหา เหมือนการโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร จะไม่เห็นการประท้วง หรือสถานการณ์รุนแรงจนกระทบต่อการท่องเที่ยวที่กำลังเข้าสู่ไฮซีซัน เพราะเศรษฐกิจประเทศไทยเวลานี้ต้องอาศัยการท่องเที่ยวมาขับเคลื่อนแทนการส่งออกที่คาดว่าจะติดลบ 2% หรือไม่เติบโต
“ไม่ว่านายพิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ มองว่า ภาคเอกชนคาดหวังแค่อยากให้จัดตั้งรัฐบาล เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพราะเอกชนสามารถทำงานร่วมกับพรรคใดก็ได้ และคาดหวังจะให้จัดตั้งรัฐบาลตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน ทั้งไทยและต่างชาติ เพราะมีเรื่องเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจที่ต้องรอรัฐบาลใหม่มาขับเคลื่อน โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ”
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนรับได้หากทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด จะฝืนกฎหมายไม่ได้ ส่วนใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน ในประวัติศาสตร์ไทย รัฐบาลขาดเอกชนไม่ได้ เพราะเป็นคนหารายได้มาเสียภาษีให้รัฐบาล และสร้างงานให้คนไทย สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าออกไปอาจส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในไทย เพราะนักลงทุนอยากเห็นรูปร่างหน้าตาของรัฐบาลใหม่ คณะรัฐมนตรีใหม่ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ นโยบายที่ชัดเจน ที่จะแถลงต่อสภา เพื่อตัดสินใจในการลงทุน คนที่ลงทุนอยู่แล้วก็อาจจะลงทุนต่อ แต่คนที่จะมาใหม่ก็อาจจะชะลอไว้ ถ้าไม่เกิดความมั่นใจ
นอกจากนี้ หากผลการวินิจฉัยไม่เป็นที่พอใจ อาจมีการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งหากชุมนุมด้วยความสงบก็ไม่เป็นปัญหา แต่หากไม่เรียบร้อย ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะดูแล ขอให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้การเดินทางท่องเที่ยวลำบาก แต่สำหรับการทำงาน ยังมีคณะรัฐมนตรีรักษาการอยู่ ก็ให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งภาคเอกชนการทำงานขับเคลื่อนร่วมกับข้าราชการประจำอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้หยุดการทำงาน
ส่วนนายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไลน์แมน วงใน กล่าวว่า แม้ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจของไลน์แมนวงในในระยะสั้น แต่ตอนนี้ทั้งเราเอง นักลงทุนและผู้ถือหุ้นค่อนข้างสับสนกับเรื่องดังกล่าว ความต้องการขณะนี้คืออยากให้เดินหน้าตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็วที่สุด และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ความเห็นของภาคเอกชนต้องการให้จัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด ไม่อยากให้มีความรุนแรง เพราะจัดตั้งรัฐบาลช้าเท่าใดผลเสียน่าจะตกอยู่ที่ภาคธุรกิจ เพราะหลังจากเลือกตั้งมาแล้ว แม้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาแต่ธุรกิจโรงแรมโดยเฉพาะในกรุงเทพฯค่อนข้างเงียบ เพราะภาคธุรกิจที่รับงานจากภาครัฐหยุดกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการจัดประชุมและสัมมนา หากปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการชุมนุมตามมาจะยิ่งไม่ดีต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนที่อยากเดินทางมาแล้วหวาดระแวงเรื่องความปลอดภัย ยิ่งสมัยนี้มีโซเชียล มีเดีย หากเกิดการชุมนุมมีการถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอออกไปทำให้ข่าวออกไปนอกประเทศรวดเร็ว
ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ และนายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่เหนือความคาดหมายของนักลงทุนในตลาดแต่จะได้เห็นเสียงของ ส.ว.ที่จะหนุนนายพิธาเป็นนายก รัฐมนตรีมากน้อยแค่ไหน หาก 8 พรรคร่วมรัฐบาล ยังจับมือกันเหนียวแน่นและพรรคเพื่อไทยสลับมาเป็นแกนนำรัฐบาล หากนายพิธาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยโควตารัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลยังคงเดิม ก็น่าจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้น อย่างน้อยก็ดีกว่าที่ขั้วรัฐบาลเดิมจะกลับมา ซึ่งจะช่วยลดความวุ่นวายและทำให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ เพราะตลาดหุ้นและนักลงทุนต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว.