สมาคมสายการบินประเทศไทย นัดหารือร่วมกับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล และคณะเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ผลักดันมาตรการสำคัญเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูธุรกิจสายการบินให้แข็งเเกร่ง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ พร้อมรับฟังนโยบาย ปัญหา และข้อเสนอแนะ สู่การให้ประเทศไทยเป็นฮับการท่องเที่ยวเดินทางในภูมิภาค โดยมีซีอีโอและผู้บริหารรวม 7 สายการบินร่วมหารือ
ทั้งนี้สมาคมสายการบินประเทศไทย ได้เสนอข้อหารือพิจารณานโยบายที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับการ สร้างความแข็งแกร่ง ลดข้อจำกัด และเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจสายการบิน ซึ่งจะตอบโจทย์การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบค่าโดยสาร ซึ่งเบื้องต้นสรุปได้ 3 ข้อดังนี้
1.การส่งเสริมนโยบายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย เช่น การกำหนดอัตราที่เหมาะสมของภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน (excise tax) ฯลฯ
2.การเร่งแก้ไขอุปสรรคและข้อจำกัดของอุตสาหกรรมการบินไทย เช่น เร่งกระบวนการเพิ่มอุปทานของอุตสาหกรรมการบิน หรือ ขั้นตอนการนำเข้าเครื่องบิน การบูรณาการทำงานระหว่างสนามบินและสายการบิน
3.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่อุตสาหกรรมการบิน เช่น การเจรจาเพิ่มสิทธิการบิน ในประเทศกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวไทย การลดค่าธรรมวีซ่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว เป็นต้น
เนื่องจาก “การเดินทางทางอากาศ” ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภาพรวมของประเทศ เพราะเป็นผู้เชื่อมต่อการสร้าง และกระจายรายได้สู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงการฟื้นฟูที่สำคัญที่สุด ซึ่งต้องอาศัยทั้งการปรับตัวของสายการบิน เเละการสนับสนุนต่อเนื่องจากภาครัฐ
ทั้งนี้การหารือร่วมกันในวันนี้จะทำให้ว่าที่รัฐบาลใหม่เห็นภาพสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจการบินในทุกมิติ แผนการฟื้นตัว และข้อเสนอเร่งด่วน โดยสมาคมสายการบินประเทศไทยยืนยันความพร้อมเต็มที่ในการทำงานร่วมกับรัฐบาล เพื่อบรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน
โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้เปิดเผยถึง ผลของการหารือระหว่างสมาคมการบิน กับพรรคก้าวไกลและตัวแทนพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 ท่าน ซึ่งเป็นประเด็นที่พิจารณาต่อเนื่องจากการที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับสมาคมนักท่องเที่ยว และที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน ประกอบกับประเด็นพิจารณามาตั้งแต่สมัยยังเป็นฝ่ายค้าน หรือ ส.ส.ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิดต่างๆ ก็ได้รับข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการบินซึ่งถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งกับทางท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศ การเดินทางของประชาชน และพรรคก้าวไกลก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้
โดยที่เนื้อหาสำคัญมีหลายประการไม่ว่าจะเป็นการบริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงต่างประเทศ ในเรื่องของ Visa อีกทั้งในเรื่องของกระทรวงคมนาคมในการกำกับดูแล รวมถึงกระทรวงท่องเที่ยว และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง จนไปถึงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับการบิน อย่างศูนย์ซ่อมบำรุงที่มีเพียง 2 แห่งในประเทศ ซึ่งทางสายการบินทั้ง 7 ต้องส่งไปซ่อมยังต่างประเทศ ทำให้ไทยเสียโอกาสไปทั้งในเรื่องการบริหาร และโครงสร้าง
1.ต้นทุน ที่เกี่ยวข้องกับภาษีต่างๆ ที่ทางสายการบินจำเป็นที่จะต้องจ่ายให้กับองคาพยพของภาครัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาตั๋วเครื่องบินของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น ตามราคาภาษีที่จะต้องจ่ายให้กับทางภาครัฐ
อย่างเช่นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตจะกลับมาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน (excise tax) สำหรับเครื่องบินไอพ่น ในอัตรา 4.726 บาทต่อลิตร จากที่เคยมีมาตรการช่วยเหลือเรียกเก็บในอัตรา 0.20 บาทต่อลิตร
ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนที่สูงขึ้นของสายการบินที่ให้บริการเส้นทางในประเทศ รวมถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสารของแต่ละสายการบิน ตรงส่วนนี้จึงนับเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข
2.ต้นทุนที่เกี่ยวกับ Supply Chain การกำกับกิจการ การบังคับการใช้ของระบบนิเวศที่เกี่ยวกับสายการบิน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งต้นทุน และจากการได้ปรึกษาหารือพร้อมกับเปรียบเทียบกับต่างประเทศ พบว่า เป็นต้นทุนประมาณ 15-20% เมื่อไปเทียบกับประเทศอื่นจะสามารถแข่งขันได้หรือไม่ สูงเกินไปหรือไม่ จะสามารถลดอย่างไรได้บ้าง
โดยทั้งสองปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากส่งผลกระทบต่อราคาตั๋วเครื่องบินที่จะต้องจ่ายของประชาชน และนักท่องเที่ยวนั่นเอง
3.ทางฝั่งของการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว จะเกี่ยวข้องกับความต้องการและการบริหารทางด้านรายได้ของสายการบิน ซึ่งเป็นการเปิดให้มีการเดินทางเข้ามาของ 3 ประเทศที่เข้ามาไทยอย่างต่อเนื่องคือ อินเดีย เกาหลีใต้ และจีน โดยจะต้องดูในเรื่องของความสมดุลและความเหมาะสมของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย เพื่อให้การเจรจาระหว่างประเทศเกิดความยุติธรรม และสุดท้ายจะเน้นในเรื่องของ Visa โดยเป็นการทำ ฟรีวีซ่า (Free Visa) ซึ่งสามารถเลือกประเทศได้ และสามารถทำเป็นระยะสั้นได้เพื่อที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยว และธุรกิจอุตสาหกรรมสายการบินไปในตัว
ทั้งหมดนี้ถือเป็นการหารือทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค รวมทั้งระดับอุตสาหกรรม และคิดไปถึงต้นทุนในการเดินทาง การคมนาคมที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประชาชน ซึ่งตอนนี้กำหนดประเด็นได้แล้ว 3 ประเด็น ในครั้งต่อไปก็จะลงรายละเอียดและจะมีการประชุมครั้งหน้าโดยที่วาระการประชุมก็จะพูดถึงประเด็นเหล่านี้
ส่วนราคาน้ำมันสายการบินได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ 1-2 เดือนที่ผ่านมามาตรการดังกล่าวหมดแล้ว จึงต้องดูว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปได้
ขณะเดียวกันในส่วนของการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน 300 บาท ที่ตอนนี้ผ่าน ครม.เป็นที่เรียบร้อย ทางฝั่งของคุณพิธา ได้ให้ข้อมูลว่า จะต้องลงไปดูรายละเอียด แต่หากให้มองต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยวไทยหดหายไปประมาณ 38% หากนำจีนออกไปหายไป 20% เท่ากับค่าเฉลี่ยของการลดลงของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งถือว่าสมเหตุสมผล แต่ในขณะเดียวกันยังมีความจำเป็นที่จะต้องบาลานซ์เพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับมาเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่กระนั้นยังต้องดูในเรื่องของภาระการคลังต่างๆ ที่จะต้องมีการลงทุน และยังหารายได้ของรัฐบาลไม่ได้
ถัดมาต้องมองว่านักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศแล้วไปกระจุกตัวอยู่ตรงจุดใด เป็นรูปแบบ Tourism Tax หรือไม่? ควรจะเข้าสู่รัฐบาลท้องถิ่นหรือไม่ ดังนั้นอาจจะต้องมีการคิดวิเคราะห์และพิจารณาอย่างถี่ถ้วน โดยคำนึงถึงรายได้ และภาระทางการคลัง
ส่วนโอกาสในการที่ไทยจะกลับมาเป็น “ฮับทางการบินของภูมิภาคอาเซียน” นั้น เบื้องต้นคุณพิธา กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหลายประเทศรุกหนักอย่างมาก เช่น Singapore Airlines ในการเจรจาหาเอกสิทธิ์ของเส้นทางในการบิน ซึ่งทำให้การเดินทางข้ามทวีปต้นทุนในสิงคโปร์ถูกกว่า ระยะเวลาสั้นกว่า ทำให้ไทยตกเอกสิทธิ์และได้รับผลกระทบพอสมควร จึงถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของรัฐบาลชุดต่อไปที่จะต้องแก้ไขปัญหาตรงนี้เพื่อให้เกิด “ฮับ” และนโยบายการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจอย่าง MICE
ทั้งนี้ 7 สายการบินประกอบด้วย สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ สายการบินไทยสมายล์ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท..