ในแต่ละปี ธนาคารโลก (World Bank) จะทบทวนการจัดกลุ่มประเทศต่างๆ ในโลก โดยปีนี้คำนวณจากรายได้ประจำปีงบประมาณ 2567 (1 ก.ค. 2566 - 30 มิ.ย. 2567) ซึ่งผลที่ออกมา “ประเทศไทย” ยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (upper middle income) เช่นเดียวกับทุกๆ ปีที่ผ่านมา ร่วมกับเพื่อนในอาเซียน อย่าง มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย
กลายเป็นคำถามที่ดังขึ้นอีกครั้ง ว่าเมื่อไหร่ ประเทศไทยจะหลุดจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” และคงตอบได้ยากมากยิ่งขึ้น ถ้าดูจากสถานการณ์เศรษฐกิจ และรายได้ของประชากรในชาติ ณ ขณะนี้
ไล่เรียงเกณฑ์ตัดสินสำคัญ ของ World Bank โดยจัดประเทศต่างๆ ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
ส่วนการคำนวณใช้ วิธี Atlas method ประเมินรายได้ประชาชาติต่อหัว และ อย่างที่กล่าว สำหรับปีนี้ ใช้เกณฑ์จัดชั้น โดยใช้ปีงบประมาณ 2567 เป็นฐาน
ย้อนไป ในปี 2551 ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เป็นครั้งแรก ที่ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงได้สำเร็จ แต่ World Bank รับรองอย่างเป็นทางการในปี 2554 เท่ากับ เป็นเวลาราว 12 ปีแล้ว ที่ไทยยืนอยู่ในตำแหน่งเดิมไม่เปลี่ยน แต่ข้อเท็จจริงคือไทยถูกแปะป้ายด้วยคำว่า “ประเทศรายได้ปานกลาง” มานานกว่า 20 ปี
ภายใต้ภาพฝัน หากยึดโยง กับ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ว่า ประเทศไทยจะต้องหลุดพ้นคำว่า “ประเทศรายได้ปานกลาง” ไปสู่ “ประเทศรายได้สูง” เรามีเวลาเหลืออยู่กี่ปี แล้วความเป็นไปได้มีมากน้อยแค่ไหน
ครั้งหนึ่ง ดร.ดอน นาครทรรพ อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. เคยระบุว่า หากเส้นแบ่งประเทศรายได้สูงยังคงแนวโน้มเหมือนที่ผ่านมา คือ ขยับขึ้นเฉลี่ย 1.1% ต่อปี (ข้อมูลย้อนหลัง 15 ปี) และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยต่อจากนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6% ต่อปี (เป้าการขยายตัวของ GDP อยู่ที่ 5% ต่อปี บวกอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 1% ต่อปี และจำนวนประชากรคงที่) ไทยอาจข้ามเส้นประเทศรายได้สูง ได้ในปี 2575
#ThairathMoney เจาะรายได้ต่อหัวคนไทยล่าสุดปี 2565 คนไทยมีรายได้อยู่ที่ 248,468 บาทต่อคนต่อปี หรือ 7,351 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขยับสูงขึ้นตามลำดับ แต่ความเหลื่อมล้ำที่สูงลิบ ระหว่างคนรวย กับ คนจน รวมไปถึง การกระจุกตัวของรายได้ ไม่เท่าเทียมกันแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะ ปัญหาค่าแรงต่ำ อาจกล่าวไม่ได้ว่าตัวเลขนี้เที่ยงตรง และทำให้เรายังไม่หลุดเข้าไปอยู่ในเกณฑ์ประเทศรายได้สูง
ยิ่งกลายเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลใหม่ ว่าจะพัฒนาประเทศชาติอย่างไร โดยเฉพาะแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ที่นับจากนี้คงจะมีความสำคัญอย่างมาก ท่ามกลาง วิกฤติเศรษฐกิจโลกส่อเค้าชะลอตัวมากกว่าที่คิด กระทบภาคการส่งออกของไทยอยู่ในขณะนี้
ขณะที่โครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนแปลง คนสูงอายุมากขึ้น แต่คนวัยทำงานหดตัว มีปัญหา หนี้ครัวเรือน ค่าครองชีพ เป็นกับดักซ้อน กระทบความเป็นอยู่ของผู้คน แต่การส่งเสริมสนับสนุนรายได้คนในชนบทอย่างจริงจังยังไม่เกิดขึ้น แล้ว “ประเทศไทยจะรอดพ้น” ได้จริงหรือ?