ส่งออกติดลบป่วน 25 กลุ่มอุตสาหกรรม ประธาน ส.อ.ท.จับตา สั่งเตรียมรับมือด่วน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ส่งออกติดลบป่วน 25 กลุ่มอุตสาหกรรม ประธาน ส.อ.ท.จับตา สั่งเตรียมรับมือด่วน

Date Time: 30 มิ.ย. 2566 06:15 น.

Summary

  • ส.อ.ท.จับตาใกล้ชิดหลังส่งออกไทยติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เริ่มกระทบภาคอุตสาหกรรม 25 กลุ่มในแง่ของกำลังการผลิตลดลง ทำให้ผู้ผลิตยังคงประคองตัวเพื่อรักษาแรงงาน แต่บางรายเริ่มลดกะทำงาน ลุ้นค่าไฟงวดใหม่ (ก.ย.–ธ.ค.) ปัจจัยบวกเพียบเฉลี่ยไม่ควรเกิน 4.25 บาท/หน่วย

Latest

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาดธุรกิจค้าปลีกปี 2568 โต 3-5% หวังแรงหนุนจากท่องเที่ยวและส่งออก

ส.อ.ท.จับตาใกล้ชิดหลังส่งออกไทยติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เริ่มกระทบภาคอุตสาหกรรม 25 กลุ่มในแง่ของกำลังการผลิตลดลง ทำให้ผู้ผลิตยังคงประคองตัวเพื่อรักษาแรงงาน แต่บางรายเริ่มลดกะทำงาน ลุ้นค่าไฟงวดใหม่ (ก.ย.–ธ.ค.) ปัจจัยบวกเพียบเฉลี่ยไม่ควรเกิน 4.25 บาท/หน่วย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.กำลังติดตามสถานการณ์ของภาคการส่งออกไทยที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ซึ่งส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบในแง่ของกำลังการผลิตที่จะต้องปรับลดลงตามคำสั่งซื้อ โดยพบว่ามี 25 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เห็นสัญญาณของผลกระทบดังกล่าว เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก หลังคาและอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรกลและโลหะการ สิ่งทอ รองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ แก้วและกระจก ฯลฯ

ดังนั้น ส.อ.ท.อยู่ระหว่างประเมินแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือโดยคาดว่าจะสรุปได้เร็วๆนี้ ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้มีการประเมินทิศทางการส่งออกของไทยปีนี้ที่จะเติบโตระดับ 0% ถึงติดลบ 1% เนื่องจากตลาดส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวที่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลกระทบจากสงครามรัสเซีย- ยูเครนทำให้กำลังซื้อตกต่ำลงทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าของไทยทั้งตลาดสหภาพยุโรป ตลาดเอมริกา และตลาดในกลุ่มเอเชีย สะท้อนจากการส่งออกของไทยเดือน พ.ค.ที่ปรับลดลงต่อเนื่อง 8 เดือน

กรณีดังกล่าวทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบในแง่ของกำลังการผลิตที่จะต้องปรับลดลงตามคำสั่งซื้อเช่นกัน นอกจากนี้ 25 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวส่วนใหญ่เน้นผลิตเพื่อส่งออกแม้ว่าบางส่วนจะรองรับกับตลาดภายในประเทศบ้างก็ตาม ทำให้ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องปรับตัวจากผลิตเพื่อส่งออกเป็นการผลิตเพื่อคงกำลังการผลิตของโรงงานเพื่อไม่ให้โรงงานปิดตัวซึ่งอาจจะกระทบต่อแรงงานได้ และเป็นการผลิตเพื่อรักษาสต๊อกสินค้า ทำให้ล่าสุด ทั้ง 25 กลุ่มได้เริ่มทยอยปรับลดกะการทำงาน ปรับลดค่าล่วงเวลาบ้างแล้ว

“ผมคาดว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ภาคอุตสาหกรรมน่าจะได้รับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นมาเนื่องจากเป็นเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ ที่อาจจะดันกำลังการผลิตขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตามประเทศไทยต้องมองหาตลาดใหม่ๆ ทดแทนตลาดที่กำลังซื้อถดถอย โดยเฉพาะตลาดที่มีอนาคตอย่างกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ หรือ GCC กลุ่มเอเชียใต้ และกลุ่มเอเชียกลาง นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลไทยเร่งเดินหน้าทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ไทยและ GCC ซึ่งจะช่วยผลักดันให้สินค้าอุตสาหกรรมไทยกระจายไปต่างประเทศมากขึ้น”

ด้านนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่ผ่านมาได้เผชิญกับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ดังนั้นในงวดใหม่ (ก.ย.-ต.ค.) ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมจะพิจารณาเร็วๆนี้มีปัจจัยหนุนที่มองว่าควรจะลดลงกว่า 10% จากงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.

ดังนั้น เมื่อพิจารณารายละเอียดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดใหม่จึงไม่ควรเกิน 4.25 บาท/หน่วย จากปัจจุบัน 4.70 บาท/หน่วย โดยปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมี 5 ปัจจัย ได้แก่ 1.ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยโดยเฉพาะจากแหล่งเอราวัณทยอยผลิตเพิ่มขึ้นจากขณะนี้ 200 ล้าน ลูกบาศก์ฟุตต่อวันเป็น 600 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (MMBTU) ในช่วงปลายปีนี้ 2.ปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ลดลง 3.ราคา LNG Spot (ตลาดจร) ลดลงมากกว่า 30% 4.ราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และ 5.หนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งงวดแรกและงวดที่ 2 ลดลงเร็วกว่าแผนด้วยต้นทุนจริงของราคาแอลเอ็นจีมีราคาลดลงต่อเนื่อง

“ดังนั้น ภาคเอกชนและประชาชนจึงต้องการเห็นการบริหารค่าไฟฟ้าที่ต้องยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และควรประสานผู้ที่เกี่ยวข้องและเปิดเผยข้อมูลต่างๆ และบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงที่สะท้อนให้เร็วกว่าการรอพิจารณาค่าเอฟทีทุกๆ 4 เดือน และควรร่วมบริหารแบบทิศทางเดียวกัน หรือ One Team”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ