นายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยเห็นชอบในหลักการการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ ที่สัญญาร่วมลงทุนฉบับปัจจุบันยังไม่มีกลไกแก้ไขปัญหา แตกต่างจากกรณีสัญญาร่วมลงทุนของโครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ ที่มีกระบวนการบริหารสัญญากรณีเกิดเหตุสุดวิสัย
ดังนั้น เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มเนื้อหาในสัญญาร่วมลงทุน ดังนี้ 1.เพิ่มคำจำกัดความของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ และเอกชนคู่สัญญา เช่น ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และความล่าช้าหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของโครงการ
2.เพิ่มแนวทางการบริหารสัญญาเพื่อจัดการกับเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน โดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของโครงการอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้สามารถเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับผลกระทบด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรม
ส่วนการแก้ปัญหาการชำระค่าสิทธิโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จากผลกระทบโควิด-19 ครม.รับทราบตามมติบอร์ด อีอีซี จากเดิมเอกชนคู่สัญญาต้องชำระค่าสิทธิ ARL 10,671.09 ล้านบาทให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ใน 2 ปี หลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุน เป็นเอกชนคู่สัญญาต้องชำระค่าสิทธิ 10,671.09 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 1,060.04 ล้านบาท รวม 11,731.13 ล้านบาท โดยแบ่งชำระ ค่าสิทธิ ARL ออกเป็น 7 งวด ได้แก่ งวดที่ 1-6 งวดละ 1,067.11 ล้านบาท และงวดที่ 7 อีก 5,328.47 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ต.ค.ของแต่ละปี
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กล่าวว่า กรณีนี้สำนักงานอีอีซี ต้องไปดำเนินการเรื่องนี้ต่อ เมื่อสรุปได้จะต้องนำเข้าที่ประชุมบอร์ดอีอีซีอนุมัติ ก่อนนำเข้า ครม.อีกครั้งหนึ่ง จึงจะมีผลในทางปฏิบัติ.