เปิดตัว “ดัชนีสุขภาวะดิจิทัล” ชี้วัดความหยั่งรู้ด้านดิจิทัลของไทย 7 ด้าน พบคนไทย 44.04% ยังอยู่ในระดับต้องพัฒนา คนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีทักษะต่ำสุด อายุ 16-18 ปีสูงสุด อาชีพทักษะเด่นสุดคือพนักงานของรัฐ ส่วนเมื่อวัดรายภาคพบคนกรุงเทพฯ-ปริมณฑลได้คะแนนสูงสุด ภาคเหนือต่ำสุด
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เปิดเผยว่า จากภารกิจหลักของเอไอเอส อุ่นใจ ไซเบอร์ ที่มุ่งสร้างทักษะด้านดิจิทัลและเครื่องมือป้องกันภัยไซเบอร์ให้กับคนไทยมาอย่างต่อเนื่องนั้น ล่าสุดได้ยกระดับการทำงานขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการสร้างมาตรวัดทักษะทางดิจิทัลที่ใช้ชื่อว่าดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) ฉบับแรกของไทยขึ้น ผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งจะเผยแพร่ปีละ 1 ฉบับเริ่มต้นในปีนี้เป็นฉบับแรก
ทั้งนี้ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลดังกล่าว ถูกกำหนดให้แบ่งการวัดผลทั้งสิ้น 3 ระดับ ตั้งแต่ 1.ระดับสูง (Advanced) เป็นผู้มีความรู้และทักษะการ ใช้เทคโนโลยีได้ถูกต้องและแนะนำคนรอบข้างได้ 2.ระดับพื้นฐาน (Basic) เป็นผู้มีความรู้และทักษะการใช้เทคโนโลยีได้ถูกต้อง 3.ระดับต้องพัฒนา (Improvement) เป็นผู้มีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอ โดยเป็นการวัดทักษะที่ครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งาน 7 ด้าน ประกอบด้วยทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Use), ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy), ทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collabo ration), ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights), ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety), ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyber bullying) และทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship) เก็บผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายทั้งช่วงอายุ และกลุ่มอาชีพทั่วประเทศกว่า 21,862 คน
ซึ่งดัชนีสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยในปี 2566 ส่วนใหญ่อยู่ในระดับต้องพัฒนา คิดเป็นสัดส่วน 44.04% ระดับพื้นฐาน 33.51% และระดับสูง 22.45% ส่วนการชี้วัดทักษะทั้ง 7 ด้าน พบว่าคนไทยมีทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์หรือไซเบอร์บูลลี่ในระดับสูงเพียงทักษะเดียว ขณะที่มีทักษะทั้งสิ้น 3 ด้านที่อยู่ในระดับต้องพัฒนา ตั้งแต่ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล ได้แก่ ความสามารถในการปกป้องความเป็นส่วนตัวของตัวเอง, ทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล ได้แก่ ความสามารถในการพิจารณาข้อมูลไหนแชร์ได้หรือไม่ได้ ตลอดจนทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล ได้แก่ มารยาทในโลกไซเบอร์
ส่วนเมื่อวัดดัชนีแยกตามกลุ่มอายุ พบว่าคนไทยทุกช่วงอายุมีทักษะในระดับพื้นฐาน คือรู้และใช้เทคโนโลยีได้ถูกต้อง ยกเว้นคนไทยในระดับอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีทักษะอยู่ในระดับต้องพัฒนาที่ 0.28 โดยระดับอายุที่มีทักษะสูงที่สุดคือคนในวัย 16-18 ปี มีทักษะอยู่ในระดับ 0.59 และเมื่อแยกเป็นรายอาชีพ อาชีพที่มีทักษะรวมสูงที่สุดคืออาชีพพนักงานของรัฐ วัดระดับได้ที่ 0.78 รองลงมาเป็นข้าราชการ 0.67 นักเรียน 0.59 และข้าราชการบำนาญ 0.47 ส่วนที่มีทักษะน้อยที่สุด ประกอบด้วย เกษตรกร 0.24 พนักงานรัฐวิสาหกิจ 0.31 และอาชีพรับจ้างทั่วไป 0.33
ขณะที่เมื่อวัดทักษะรายภาคพบกรุงเทพฯและปริมณฑลมีทักษะสูงสุดที่ 0.61 รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 0.59 แต่ก็เป็นแค่ทักษะขั้นพื้นฐาน ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันตกอยู่ในระดับต้องพัฒนาที่ 0.33 และ 0.40 ตามลำดับ ส่วนเมื่อนับรายจังหวัดพบจังหวัดที่มีทักษะสูงสุดคือนครพนม 0.84 ต่ำสุดอุตรดิตถ์ที่ 0.10
นายสมชัย กล่าวว่า จากผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ทำให้เห็นจุดที่ต้องพัฒนาทักษะเพิ่มความรู้ความเข้าใจในอีกหลายประเด็น โดยจะร่วมกับพันธมิตรเดินหน้าทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะภัยไซเบอร์กำลังเป็นวาระที่ทั้งโลกหันมาให้ความสำคัญ ส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับบุคคล ทั้งเรื่องการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล การล่อลวงผ่านช่องทางออนไลน์ และการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ไปจนถึงระดับประเทศหรือองค์กรในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจดิจิทัล ระบบสารสนเทศ ที่ต้องรับมืออย่างจริงจัง.