พ่อค้า-แม่ค้า ผวาอีกครั้ง เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเตือนว่า ขณะนี้พบ ธนบัตรปลอม หรือ แบงก์ปลอม ระบาดอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น ในจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร และมหาสารคาม เป็นต้น จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการรับธนบัตร และสังเกตก่อนรับเงินทุกครั้ง โดยวิธีสังเกตต่างๆ ดังนี้
วิธีแยกระหว่าง แบงก์ปลอม กับ แบงก์จริง อย่างง่าย
- แบงก์จริงต้องกลิ้งได้
- เมื่อพลิกเอียงแบงก์ ลายดอกไม้สีทองและแถบสีจะกลิ้งและเปลี่ยนสีได้
ทั้งนี้ หากพลาดได้แบงก์ปลอมมาแล้วให้รีบไปแจ้งความเพื่อติดตามจับคนร้าย และอย่านำไปใช้ต่อ เพราะมีความผิดตามกฎหมาย
เจอแบงก์ปลอม ต้องให้รีบแจ้งความ
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นแบงก์ปลอม โดยเฉพาะแบงก์ที่มีราคาสูง
- จากนั้นแยกออกจากแบงก์จริง แล้วเขียนว่า “ปลอม”
- ห้ามนำไปใช้จ่ายอีกโดยเด็ดขาด
- แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- นำไปส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อขึ้นบัญชีเป็น “ธนบัตรปลอม”
- หากจำได้ว่าใครเป็นผู้นำมาใช้ ควรจดจำรูปพรรณสัณฐานให้ดี เพื่อใช้ในการเป็นเบาะแสจับกุม และยืนยันความบริสุทธิ์ให้ตัวเอง
บทลงโทษที่เกี่ยวกับแบงก์ปลอม
- บทลงโทษสำหรับผู้ปลอมแปลงเงินตรา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 ระบุว่ามีโทษจำคุก 10-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 200,000-400,000 บาท
- บทลงโทษสำหรับผู้มีเงินปลอมในครอบครองและนำออกมาใช้จ่าย “โดยตั้งใจ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 ระบุว่ามีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-300,000 บาท
- บทลงโทษสำหรับผู้มีเงินปลอมโดยไม่ตั้งใจ แต่กลับนำออกมาใช้จ่ายหลังจากตรวจสอบแล้วว่าเป็นแบงก์ปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 245 ระบุว่ามีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- บทลงโทษสำหรับผู้ผลิตเครื่องมือปลอมแปลงเงินตรา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 246 จำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท