ผวาการเมืองกระแทกซ้ำ ดัชนีความเชื่อมั่น ส.อ.ท.ทรุด 2 เดือนติด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ผวาการเมืองกระแทกซ้ำ ดัชนีความเชื่อมั่น ส.อ.ท.ทรุด 2 เดือนติด

Date Time: 15 มิ.ย. 2566 06:10 น.

Summary

  • อย่าชะล่าใจ สัญญาณร้ายมาชัดแล้ว ดัชนีเชื่อมั่นเอกชน ทรุด 2 เดือนติด อนาคตก็ยังร่วงอีก หลังการเมืองไม่นิ่ง หวั่นยิ่งลากตั้งรัฐบาลล่าช้า กระตุ้นม็อบลงถนน นักลงทุนหลอนหนักแน่ ขอตั้งรัฐบาลเร็ว–ช่วยเอสเอ็มอี–ดึงผู้ประกอบการใช้สิทธิเอฟทีเอ

Latest

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาดธุรกิจค้าปลีกปี 2568 โต 3-5% หวังแรงหนุนจากท่องเที่ยวและส่งออก

อย่าชะล่าใจ สัญญาณร้ายมาชัดแล้ว ดัชนีเชื่อมั่นเอกชน ทรุด 2 เดือนติด อนาคตก็ยังร่วงอีก หลังการเมืองไม่นิ่ง หวั่นยิ่งลากตั้งรัฐบาลล่าช้า กระตุ้นม็อบลงถนน นักลงทุนหลอนหนักแน่ ขอตั้งรัฐบาลเร็ว–ช่วยเอสเอ็มอี–ดึงผู้ประกอบการใช้สิทธิเอฟทีเอ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนพ.ค. จากการสำรวจผู้ประกอบการครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.ว่า อยู่ที่ระดับ 92.5 ลดลงจาก 95.0 ในเดือน เม.ย. เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ

ทั้งนี้ เนื่องจากภาคเอกชนเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับการเมืองหลังเลือกตั้งที่ยังไม่แน่นอน และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว รวมทั้งปัจจัยลบจากการส่งออกของไทยที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนส่งผลให้อุปสงค์จากประเทศคู่ค้าลดลง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากอัตราแลกเปลี่ยนยังคงผันผวน และผู้ประกอบการยังคงเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะราคาพลังงาน, อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

สำหรับดัชนีอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 104.3 ลดลงจาก 105.0 ในเดือน เม.ย. เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลใหม่ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนประกอบการของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี รวมทั้งทำให้การลงทุนจากต่างประเทศลดลง ขณะที่ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและปัญหาภัยแล้ง ส่งผลต่อวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร

ขณะที่ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐของ ส.อ.ท. มีอาทิ ขอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นและความสามารถ ในการชำระหนี้ลดลง เช่น สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพิ่มเสริมสภาพคล่องการปรับโครงสร้างหนี้การปรับเงื่อนไข การค้ำประกันสินเชื่อให้มีความยืดหยุ่นขึ้น, สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออก ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ฉบับต่างๆ เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยและช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออก, เร่งให้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

ล่าสุด ประเด็นที่ยังต้องระวังปัจจัยลบที่อาจแทรกเข้ามาด้วย โดยเฉพาะการเมืองที่หากยืดเยื้อล่าช้าออกไป 1-2 เดือน หรือเลื่อนออกไปถึงช่วงปลายปี 66 อาจส่งผลให้ม็อบที่หายไปจากสังคมไทยเป็นเวลานานกลับมาอีกครั้ง เป็นภาพหลอนที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะจะกระทบกับเครื่องยนต์เศรษฐกิจ หรือภาคท่องเที่ยวโดยตรง จากเดิมที่คาดหวังว่านักท่องเที่ยวในปี 66 จะถึง 30 ล้านคน อาจไปไม่ถึง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ