ปรับโฉมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ททท.ฮีโร่ในวิกฤติเศรษฐกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปรับโฉมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ททท.ฮีโร่ในวิกฤติเศรษฐกิจ

Date Time: 15 มิ.ย. 2566 06:20 น.

Summary

  • เมืองไทยมีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวเสมอมา ยุคแรกของการโปรโมตการท่องเที่ยว เราใช้ “หาดทราย–สายลม” “วัด–วัง” เป็นจุดขาย และพัฒนาต่อยอดเรื่อยมา แคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวที่โดดเด่นเริ่มจาก “ปีท่องเที่ยวไทย–Visit Thailand Year” ในปี 2523 “Amazing Thailand” ปี 2541 และ “Unseen Thailand” ในปี 2546

Latest

กะเทาะ 5 สาเหตุ วิกฤติอสังหาฯ เมื่อคนไทย อยากมีบ้าน แต่มีไม่ได้! ยอดกู้ไม่ผ่าน พุ่งสูงสุด

เมืองไทยมีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวเสมอมา ยุคแรกของการโปรโมตการท่องเที่ยว เราใช้ “หาดทราย-สายลม” “วัด-วัง” เป็นจุดขาย และพัฒนาต่อยอดเรื่อยมา แคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวที่โดดเด่นเริ่มจาก “ปีท่องเที่ยวไทย-Visit Thailand Year” ในปี 2523 “Amazing Thailand” ปี 2541 และ “Unseen Thailand” ในปี 2546 กระทั่งปัจจุบันแม้เพิ่งฟื้นจากโควิดได้ไม่นาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็ยังใช้ความสามารถของนักการตลาดดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาสร้างรายได้ให้ประเทศได้อย่างมาก

ปี 2565 ภาคการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 1.22 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวชาวไทย 151 ล้านคน/ครั้ง และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 11.15 ล้านคน สำหรับปีนี้คาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 2.38 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16-18 ของจีดีพี

การนำเสนอความสวยงามของทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับอัตลักษณ์พื้นถิ่นของชุมชนท่องเที่ยวทั่วประเทศในรูปแบบต่างๆ ไม่เพียงได้เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ยังสร้างงานในภาคบริการได้กว่า 4.7 ล้านตำแหน่ง ลดอัตราการย้ายถิ่นได้มาก ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์วิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาชีพ สถาปัตยกรรม การละเล่น และการแต่งกายของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน

ช่วงนี้ ททท.ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวออกแบบ กิจกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์อันน่าจดจำ (Meaningful Travel) เพื่อสร้างความสุขให้แก่นักท่องเที่ยวที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับชุมชนท่องเที่ยว สร้างความสุขให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ และสร้างความสุขให้แก่ประเทศไทยในมิติทางเศรษฐกิจ

การปรับโฉมครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การบูรณาการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้ประกอบการและหน่วยงานพันธมิตร (Partnership 360) เพื่อพัฒนาสินค้าการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเป็นธรรม

2.การส่งเสริมการตลาดดิจิทัลเชิงนวัตกรรม ด้วยการพัฒนาและยกระดับระบบการนำเสนอสินค้าการท่องเที่ยวตามพฤติกรรมด้านดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปของนักท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีทักษะในการแข่งขันในเวทีโลกมากขึ้น

3.การเจาะกลุ่มตลาดคุณภาพที่มีความชื่นชอบ หลงใหล และมีวัฒนธรรมย่อยเดียวกัน (Sub-culture Movement) โดยรักษาสัดส่วนระหว่างนักท่องเที่ยวทั่วไป (Mass Tourist) กับนักท่องเที่ยวคุณภาพ (Quality Tourist) เช่นกลุ่มผู้รักสุขภาพ กลุ่มผู้เกษียณ กลุ่ม Workation กลุ่มสายศรัทธา กลุ่มผู้รักสัตว์ (Pet Lover) กลุ่มนักกีฬาและสันทนาการ กลุ่มกองถ่ายทำภาพยนตร์

4.การพัฒนาสู่ความยั่งยืน ในฐานะพลเมืองที่ดีของโลกที่จะร่วมมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมและกิจการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสินค้าหลักของการท่องเที่ยวให้ยังคงอยู่สืบไป

ด้วยศักยภาพของเมืองไทยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังสามารถเติบโตสร้างรายได้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน อยู่ที่การบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ปัจจัยหลายอย่าง ทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างประชากรศาสตร์ ภูมิรัฐศาสตร์และสันติภาพทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงข้อจำกัดด้านกฎระเบียบข้อบังคับของประเทศไทย ถือเป็น ความท้าทาย ของ ททท. โดยเฉพาะ คุณฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ที่จะขึ้นรับตำแหน่งผู้ว่าการ ททท.คนใหม่ในเดือน ก.ย.นี้ ว่าจะพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยได้เต็มศักยภาพแค่ไหน

เคยมีความพยายามจะผลักดันให้การท่องเที่ยวเป็นตัวจักรสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของจีดีพี ภายในปี 2570 ผมว่าเมืองไทยมีของดีในตัวพร้อมสรรพ อยู่ที่รัฐบาลจะกล้าทุ่มเทส่งเสริมหรือเปล่า.

ลมกรด


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ