ท่องเที่ยวลดโลกร้อน Net Zero Tourism

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ท่องเที่ยวลดโลกร้อน Net Zero Tourism

Date Time: 5 มิ.ย. 2566 06:40 น.

Summary

  • พาดหัวข่าว เมื่อเดือน เม.ย.2566 กรมอุตุนิยมพยากรณ์ว่า “ร้อนระอุ 50 องศา เขตบางนา ระวังป่วยฮีตสโตรก ค่ารังสียูวีพุ่งกระฉูด 25 จังหวัด” ทำเอาคนไทยร้อนระอุเข้าไปถึงทรวงอก ว่า กำลังจะเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

พาดหัวข่าว เมื่อเดือน เม.ย.2566 กรมอุตุนิยมพยากรณ์ว่า “ร้อนระอุ 50 องศา เขตบางนา ระวังป่วยฮีตสโตรก ค่ารังสียูวีพุ่งกระฉูด 25 จังหวัด” ทำเอาคนไทยร้อนระอุเข้าไปถึงทรวงอก ว่า กำลังจะเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้

คำถามนี้เกิดขึ้นในใจทุกคนว่า ปีนี้ร้อนขนาดนี้ แล้วปีหน้าจะร้อนขนาดไหน จะร้อนมากขึ้นไปกว่านี้อีกหรือเปล่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่นับว่าเป็น “มหันตภัยร้ายแรง” ของโลก และของประเทศไทย

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้มาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ ก๊าซโอโซน สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน และฮาโลคาร์บอน

ก๊าซเหล่านี้สามารถเก็บกักรังสีความร้อนจากผิวโลก แล้วคายรังสีความร้อนนั้นกลับลงมา ทำให้อุณหภูมิบนผิวโลกร้อนขึ้นกว่าเดิม เปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนรังสีความร้อนไม่ให้ออกไปจากโลก หรือเปรียบเทียบอีกทาง ทำให้มนุษย์อย่างพวกเราเหมือนถูกอบซาวน่าอยู่ตลอดเวลา

สิ่งนี้เรียกว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect)

ขณะเดียวกันก้อนน้ำแข็งที่ลอยอยู่ตามขั้วโลกก็เกิดการละลาย เมื่อเกิดการระเหยมากก็กลายเป็น “พายุฝนพันปี” นอกจากนั้น ยังเกิดรูโหว่โอโซนในชั้นบรรยากาศ ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตลงมาถึงผิวโลกเป็นอันตรายกับมนุษย์ซ้ำอีก

หากยังปล่อยไปเช่นนี้ มนุษย์จะอยู่ยากขึ้นไปทุกที จึงเกิดการตื่นตัวและมีเวทีเจรจาระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference : UNFCCC) ที่จะต้องร่วมมือกันรักษาระดับอุณหภูมิในโลกไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียสการไปสู่เป้าหมายนั้นได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือของคนทั่วโลก คนไทยก็เช่นกัน

ททท.ตื่นตัวสู่ Net Zero Tourism

กิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า การขนส่งทางรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งภาคเกษตรที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทน จากน้ำขังที่ใช้ปลูกข้าว หรือจากการผลิตปุ๋ยชีวภาพ

ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ทำรายได้หลักให้กับประเทศไทย ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเดินทาง ทั้งทางอากาศ ทางบก ทางเรือ มีการใช้ไฟฟ้า นักท่องเที่ยวซื้อสินค้าก็ผลิตมาจากโรงงานอุตสาหกรรม คนมารวมตัวกันมาก กินใช้มาก ก็สร้างให้เกิดขยะมากขึ้น

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศ ตระหนักถึงสิ่งนี้ จึงขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวไทยให้ไปสู่เป้าหมาย Net Zero Tourism

โดยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ที่จะให้ความรู้ทางด้านวิชาการ และไทยรัฐทีวี ช่อง 32 ที่มีจุดแข็งทางด้านการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่ของประเทศไทย เข้ามาช่วยต่อยอด เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักให้แก่ประชาชน นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการและชุมชน ให้ได้มีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม

ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) นำไปสู่การท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Tourism) อย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคท่องเที่ยวไทยในระดับสากล นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคตให้ได้

TGO เปิดกลยุทธ์ลดก๊าซเรือนกระจก

ทีมข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในฐานะสื่อมวลชนจึงขอเป็นอีกส่วนร่วมหนึ่งในการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้สังคมตระหนักถึงความร่วมมือกันในการแก้ปัญหา “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” ที่เกิดขึ้น โดยสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

เริ่มต้นกับการพูดคุยกับ นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ถึงกลยุทธ์ความร่วมมือที่จะแก้ปัญหานี้ได้ ว่า การลดก๊าซเรือนกระจก ต้องเริ่มจากการลด ละ เลิก กิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซประเภทต่างๆด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานที่ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล

การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าและผลิตความร้อน การใช้ขนส่งสาธารณะ การใช้ยานพาหนะไฟฟ้า การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องยนต์ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร โรงงาน และในครัวเรือน การปรับเปลี่ยนสารทำความเย็นธรรมชาติ การใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ด การจัดการขยะมูลฝอย และการจัดการน้ำเสียของชุมชน

แต่หากทำไม่ได้จริงๆ ก็มีทางออกโดยการ “ซื้อขายคาร์บอนเครดิต” ส่วนต้องซื้อเท่าไหร่ต้องเริ่มต้นจากการคำนวณว่า สิ่งที่เราทำ หรือจะเรียกว่า “สร้างกรรม” ไว้เท่าไหร่ก็ชดใช้เท่านั้น นำมาสู่คำว่า “Net Zero” เพราะเราทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น Zero หรือ เป็นศูนย์ไม่ได้ เป็นเช่นนี้ เราสามารถชดเชยหรือชดใช้กรรมนั้นได้

ในภาคท่องเที่ยว ที่ TGO เข้าไปสนับสนุนและส่งเสริมด้านวิชาการ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำสู่การเป็นการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์อย่างยั่งยืน จึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวนำเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ที่ TGO พัฒนาขึ้นไปใช้ในการคำนวณและชดเชยคาร์บอนเพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutral Tourism หรือ Net Zero Tourism เพื่อที่จะสามารถชดเชยคาร์บอนจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย

เครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์

TGO ได้พัฒนาเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อรองรับภาคการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ดังนี้ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของอีเวนต์ท่องเที่ยว : สำหรับใช้คำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอีเวนต์ท่องเที่ยวรายครั้ง

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของบริการท่องเที่ยว : สำหรับใช้คำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของโปรแกรมท่องเที่ยวที่จัดขึ้นเป็นประจำ และมีกิจกรรมเหมือนเดิมทุกครั้ง

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของโรงแรม : สำหรับให้โรงแรมใช้คำนวณ CFO แบบง่าย

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของบริษัททัวร์ : สำหรับให้บริษัททัวร์ใช้คำนวณ CFO แบบง่าย

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของการท่องเที่ยวที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ : การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงดนตรี คอนเสิร์ต การท่องเที่ยวในงานเทศกาล

เมื่อได้ผลการคำนวณแล้ว สามารถใช้ต่อยอดมุ่งสู่ Carbon Neutral Tourism หรือการท่องเที่ยวที่เป็นกลางคาร์บอน ผ่านการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนจากโครงการ T-VER และในขณะนี้ TGO กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบรับรอง Net Zero Tourism ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จ

สำหรับ Link ของเครื่องมือคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบต่างๆ ได้ที่ แบบรับรองตนเอง (tgo.or.th) โดยปัจจุบันมีแอปพลิเคชัน CF Event ใช้คำนวณคาร์บอนการจัดงานอีเวนต์ ซึ่งยังไม่ครอบคลุมกิจกรรมท่องเที่ยวในทุกสาขา

ต่อจากนี้ TGO อยากได้ความร่วมมือจากสตาร์ตอัพ ช่วยพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันเพื่อรวบรวมเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ที่รวมการจัดงานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการท่องเที่ยวทั้งหมด ที่ TGO จัดทำขึ้น เพื่อสะดวกต่อการคำนวณมากขึ้น ส่วนคนทั่วไปที่อยากรู้ว่าในแต่ละวันปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเท่าใด ตอนนี้สามารถเข้าไปคำนวณเองผ่านแอปพลิเคชัน CF Caiculator

ขณะที่ ททท.จะเป็นหน่วยงานที่นำเครื่องมือกลไกที่ TGO พัฒนาขึ้น ไปใช้ในการออกแบบเส้นทางและกิจกรรมการท่องเที่ยวให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ รวมทั้งใช้คำนวณ และต่อยอดชดเชยให้เป็นการท่องเที่ยว Carbon Neutral และ Net Zero

พัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยกับ “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ว่า แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวไทยให้ไปสู่เป้าหมาย Net Zero Tourism

ททท. มุ่งวางกลยุทธ์ในการ Shape Supply โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานกับผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้ไปสู่เป้าหมายในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งต่อจากนี้จะขยับจาก Shape Supply เป็น Shape to Zero

โดยได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Goals : STGs) ซึ่งต่อยอดจาก 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงทางการท่องเที่ยว (Tourism Security) สอดคล้องกับ STGs ทั้ง 4 มิติ ได้แก่ มิติการบริหารจัดการ มิติสังคม-เศรษฐกิจ มิติวัฒนธรรม และมิติสิ่งแวดล้อม

พร้อมทั้งดำเนินการจัดทำมาตรฐานความยั่งยืน Sustainable Tourism Accelerating Rating (STAR) ให้ผู้ประกอบการนำไปใช้เพื่อให้สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว มีมาตรฐานในการให้บริการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป

ดึงเอกชนพลิกโฉมท่องเที่ยวไทย

ททท.ได้มีการดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวให้รองรับนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่ Net Zero Tourism

โดยดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ โครงการ Low Carbon Tourism Destination เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการใส่ใจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อร่วมพลิกโฉมท่องเที่ยวไทย

มีกิจกรรม Establish Thailand to be Sustainable Tourism Destination ที่ ททท.ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เร่งพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีการจัดการการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนเป็นศูนย์ ด้วยการจัดทำและอบรมคู่มือแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและมีประสิทธิภาพ

ในพื้นที่นำของจังหวัดใน 5 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ จะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการมีการจัดทำฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม

หรือแม้กระทั่ง โครงการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566 ปีนี้ ททท.ได้เพิ่มรางวัลประเภทรางวัล Low Carbon & Sustainability เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Sustainable Tourism Goals : STGs

ขณะเดียวกัน ททท.จัดเตรียมทำคู่มือ STGs Easy เป็นคู่มือสำหรับการประเมินตนเอง (Self assessment) ให้สำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งในระดับขนาดเล็กและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อม โดย STGs Easy จะมีเกณฑ์ในการประเมิน 17 ข้อใหญ่ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้

ทางด้าน สำนักงาน ททท. สาขาในประเทศ ขณะนี้เริ่มดำเนินการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว STE (Sustainable Tourism Experience) โดยนำคู่มือ STGs Easy ไปใช้ในการคัดเลือกเส้นทางท่องเที่ยว เพื่อเสนอขายให้ตลาดต่างประเทศต่อไป

และในระหว่างนี้ได้มีการจัดทำโครงการ CF-Hotels ที่ ททท. ได้ร่วมกับ TGO และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการจัดทำแพลตฟอร์มสำหรับผู้ประกอบการเพื่อคำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่ ททท.จะขยายผลให้เกิดความต่อเนื่องทางด้านการตลาด เพื่อให้ทั่วโลกรับรู้ว่าประเทศไทยให้ความสำคัญของการเป็น “จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ