โลก 2030 แบบไหน ที่เราอยากไปถึง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

โลก 2030 แบบไหน ที่เราอยากไปถึง

Date Time: 3 มิ.ย. 2566 05:30 น.

Summary

  • การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับร้อยละ 2.00 ในการประชุมกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3/66 สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจที่ กนง. ระบุว่า “เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ” และ “อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงสูงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวดี”

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับร้อยละ 2.00 ในการประชุมกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3/66 สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจที่ กนง. ระบุว่า “เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ” และ “อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงสูงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวดี”

ในด้านเสถียรภาพระบบการเงินนั้น “ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบาง” ตัวเลขที่ตอกย้ำสถานการณ์ดังกล่าว คือ ระดับหนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจต่อ GDP ยังอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 86.9 และ 88.4 ณ สิ้นปี 2565 เทียบกับที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 80 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจะช่วยบรรเทาสถานการณ์หนี้ในภาพรวม แต่กลุ่มเปราะบางแล้วยังคงต้องใช้เวลาอีกมาก บทความวันนี้ จึงขอเชิญทุกท่านร่วมมองไปไกลๆถึงในปี 2030 ว่า โลกเศรษฐกิจการเงินแบบไหนที่เรากำลังจะเดินทางไปถึง

รายงาน “The future of wealth and growth hangs in the balance” ของ McKinsey ที่เผยแพร่สิ้นเดือน พ.ค.นี้ วาดฉากทัศน์ของโลก 2030 สี่ใบ โดยอ้างอิงสถานการณ์ในการบริหารจัดการหนี้สินและความมั่งคั่ง คือ

โลกใบที่หนึ่ง “คืนสู่วันวาน” หลังวิกฤตการณ์เงินโลก : การออมการลงทุนต่ำ GDP สหรัฐฯโตปีละ 1.1% เงินเฟ้อสหรัฐฯต่ำกว่าเป้าหมาย 1% อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงติดลบ แต่ตลาดหุ้นโตปีละ 6%

โลกใบที่สอง “สูงไปอีกนาน” หลังวิกฤติพลังงานโลกทศวรรษ 70 : ความมั่งคั่งเติบโตแต่มูลค่าที่แท้จริงลดลง GDP สหรัฐฯ โตปีละ 1.7% เงินเฟ้อสหรัฐฯเกินเป้าหมาย 2% ดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงเป็นศูนย์ ตลาดหุ้นหดตัวปีละ -1%

โลกใบที่สาม “งบดุลปรับฐาน” ญี่ปุ่นหลังฟองสบู่แตกทศวรรษ 90 : นโยบายการเงินการคลังตึงตัว GDP สหรัฐฯโตเฉลี่ย 0.9% เงินเฟ้อสหรัฐฯต่ำกว่าเป้าหมาย 1% ดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงติดลบ 1% ตลาดหุ้นหดตัวปีละ -4%

โลกใบที่สี่ “ผลิตภาพนำทาง” เติบโตหลังสงครามโลกครั้งที่สอง : ความมั่งคั่งที่แท้จริงเติบโต ความเสี่ยงงบดุลลดลง GDP สหรัฐฯโตปีละ 2.5% เงินเฟ้อสหรัฐฯเกินเป้าหมาย 1% อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงที่ 1% ตลาดหุ้นโตปีละ 4%

โลก 2030 ในอุดมคติที่เราอยากจะเห็น คือ โลกใบที่สี่ ซึ่งมีผลิตภาพนำทางการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ขณะที่งบดุลในโลกมีความสมดุลและยั่งยืน ซึ่งรายงานฉบับนี้เสนอกลยุทธ์กว้างๆในการบรรลุถึงโลกดังกล่าว

-ระบุหมุดหมายว่า เรากำลังจะเดินไปสู่โลกใบไหน โดยให้น้ำหนักกับการยกระดับศักยภาพผลิตภาพการผลิตระยะยาว

-วางแผนฉากทัศน์ให้กว้างและยาวพอ ธุรกิจและธนาคารจะปรับพอร์ตอย่างไร ถ้าเงินเฟ้อสูงต่ออีกทศวรรษ

-ทดสอบและเสริมแกร่งแนวทางบริหารความเสี่ยง ทดสอบธุรกิจและงบดุลในช่วงกดดันเพื่อปิดจุดอ่อน

-ปรับรูปแบบธุรกิจและค้นหาโอกาสในการเติบโตใหม่ๆ โดยจัดลำดับความสำคัญของการสร้างมูลค่าเพิ่ม

ยังอีกนานกว่าจะถึงปี 2030 แต่การตั้งสติในช่วงขาขึ้น น่าจะไม่เสียหาย พึงระลึกว่าแม้รายได้กำลังโตและเงินเฟ้อกำลังชะลอ หนี้ยังไม่หายไปไหน การเติบโตอย่างสมดุลด้วยผลิตภาพยังคงเป็นทางออกที่ดีเสมอไม่ว่าจะในโลกยุคไหน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ