มีเสียงท้วงติง และวิพากษ์วิจารณ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับแนวคิด การจัดเก็บ ภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) หนึ่งในเครื่องมือสำคัญ ที่พรรคก้าวไกล ผู้นำการจัดตั้งรัฐบาลร่วม ประกาศว่า จะใช้ในการเขย่าพีระมิดชนชั้น ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ควบคู่กับ การเตรียมรื้อภาษีที่ดินใหม่, จัดเก็บภาษีมรดก และภาษี financial Tax เพื่อเตรียมนำเงินภาษีดังกล่าว ไปใช้ในนโยบายรัฐสวัสดิการแง่ต่างๆ
ผ่านโยบาย “ภาษีความมั่งคั่ง” แบบฉบับพรรคก้าวไกล
ย้อนไปช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระส่ำวงการสาธารณสุขโลก และทำให้ภาครัฐทั่วโลก ต้องสูญเสียงบประมาณ เพื่อนำไปซื้อหาวัคซีน เทเม็ดเงินไปจำนวนมาก ไปกับค่าใช้จ่ายในการรักษาโควิด
ประเด็น “ภาษีความมั่งคั่ง” ถูกหยิบยกมาพูดถึงในหลายประเทศ โดยเฉพาะมหาอำนาจ อย่างสหรัฐฯ ที่มีการถกเถียงกันว่า มีความจำเป็นหรือไม่? ที่รัฐต้องพิจารณาหาแหล่งรายได้เพิ่มเติม ภายใต้ ภาพจริงที่ว่า มหาเศรษฐีชาวอเมริกันจำนวนมาก เสียภาษีในอัตราต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะใช้วิธีกู้เงินมาลงทุน โดยเอาสินทรัพย์เป็นหลักประกัน และต่อให้หักดอกเบี้ยแล้ว ก็ยังเหลือรายได้อีกเยอะ
ส่วนประเทศต้นแบบ ที่ใช้ Wealth Tax อย่างดุดันไม่เกรงใจใคร เห็นจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีข้อมูลว่า เริ่มเก็บภาษีดังกล่าว มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยหลักการ : สินทรัพย์ทุกประเภทที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีความมั่งคั่งหมด ทั้งเงินฝาก หุ้นทั้งในบริษัทที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาด ขณะปัจจุบัน มีราว 5 ประเทศ เท่านั้นที่ยังจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง ได้แก่ โคลอมเบีย ฝรั่งเศส นอร์เวย์ สเปน และสวิตเซอร์แลนด์
เจาะภาษีความมั่งคั่ง ในมิติของพรรคก้าวไกล ที่จะถูกนำมาบังคับใช้ครั้งแรกในไทย ท่ามกลางกระแสการคัดค้าน และ การเด้งรับนโยบายเชิงลบในตลาดทุนไทย
“ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตอบคำถาม ทำไม? ไทยถึงต้องมี Wealth Tax ว่า ภาษีความมั่งคั่ง หรือ Wealth tax นั้น ก็จะเป็นอีกเครื่องมือ ที่จะช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในไทยให้เกิดขึ้นได้จริง
โดยหลักการ จะเก็บภาษีดังกล่าว กับกลุ่มผู้มีสินทรัพย์สุทธิเกิน 300 ล้านบาท ประเมินเบื้องต้น มีราวไม่เกินแสนรายในประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ นำเงินมาพัฒนาโครงการต่างๆ โดยเฉพาะ รัฐสวัสดิการ
ตัวอย่าง หากคุณมีทรัพย์สิน 600 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหนี้สิน 300 ล้านบาท หักลบกันแล้ว คุณจะมีทรัพย์สินสุทธิ 300 ล้านบาทถ้วน ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์การต้องจ่ายภาษีความมั่งคั่ง โดยเกณฑ์การเก็บภาษี ตัวเลขถูกเคาะไว้เบื้องต้นที่ 0.5% ของสินทรัพย์สุทธิ นั่นเท่ากับ คุณจะต้องจ่ายให้รัฐ 1.5 ล้านบาท เป็นต้น
ภาษีมั่งคั่ง ได้มากกว่าเสีย? หวั่นทุนย้ายออก
ภายใต้ข้อดี ว่าเรากำลังจะมีเงินก้อนใหม่ที่เป็นรายได้ของรัฐ มาจัดสรรแบ่งส่วน เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ และ คอยอุดรอยรั่ว การลุยรื้อโครงสร้างปัญหาทางสังคม และ เศรษฐกิจ ที่ฝั่งรากลึกมานาน
แต่ความกังวลก็เกิดขึ้นเช่นกัน เพราะนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ จำนวนไม่น้อย เป็นห่วงว่า “เมื่อไรที่ไทยมีการเก็บภาษีตัวนี้ ปัญหาคนรวย ซึ่งมีความมั่งคั่ง จะหาทางซุกซ่อนสินทรัพย์ หลบเลี่ยงภาษี มากขึ้นหรือไม่ ลามไปจนถึงการยอมละทิ้งสัญชาติไทย เพื่อย้ายทรัพย์สินหนีไปอยู่อาศัยในต่างประเทศแทน นี่จะยิ่งส่งผลให้การจัดเก็บภาษีทำได้น้อยลง?”
ทางเลือกใหม่ๆ ถูกเสนอแทนที่ หวังจะให้พรรคก้าวไกลเปลี่ยนแนวคิด โดยเฉพาะ จาก ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) และยังนั่งในตำแหน่ง ที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ซึ่งระบุว่า อาจมีผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจแบบที่ไม่ควรมองข้าม ที่ร้ายแรง ยังประเมิน การเก็บภาษีมั่งคั่ง อาจส่งผลลบต่อการลงทุน
สกัด FDI เม็ดเงินสำคัญทางเศรษฐกิจ
ดร.ศุภวุฒิ ขยายความว่า ไม่ว่าจะเป็นภาษีความมั่งคั่ง, ภาษีที่ดิน, ภาษีมรดก และภาษี financial Tax ต่างเป็นนโยบาย ที่เพิ่มต้นทุนให้กับนักลงทุน อาจนำไปการทบทวนการลงทุนใหม่ เพราะไม่อยากเสียภาษีมากกว่าเดิม ขณะการลงทุนดังกล่าว มีส่วนสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) อย่างมาก ท่ามกลาง ปัจจุบันตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก เข้าใกล้ภาพ “ถดถอย”
Thairath Money เจาะข้อมูล FDI ม.ค.- มี.ค. พบ ด้วยมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ล่อตา ดึงดูดชาวนักลงทุน ให้ย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทย อีกทั้ง บีโอไอ ผลักดัน อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นทำให้ไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 397 โครงการ เพิ่มขึ้น 9% ขณะมูลค่าเงินลงทุน เพิ่มขึ้น 77% ขยับจากปี 2565 ที่ 104,746 ล้านบาท มาอยู่ที่ 185,730 ล้านบาท โดยพื้นที่เป้าหมายการลงทุน กระจุกตัวสูงสุดอยู่ใน 3 จังหวัด EEC
สะท้อนต่างชาติ มองไทย เป็น SAFE ZONE การลงทุนที่สำคัญ ซึ่งมีผลต่อการจ้างงานและรายได้ของคนไทยตามมา
จุดวัดใจพรรคก้าวไกล
อย่างไรก็ดี ดร.ศุภวุฒิ ชี้ว่า การเก็บภาษีมั่งคั่ง ที่เปรียบเหมือนการรีดภาษีจากคนรวย มาช่วยเหลือคนจน เป็นแนวคิดที่ถูกต้อง ตามหลักสากล แต่คงจะต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้น หากท้ายที่สุด ว่าที่รัฐบาล จะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมา ช่องว่างความต่าง ระหว่างคนรวย และ คนจน ในประเทศไทย มีมากขึ้นชัดเจนจริง ยิ่งสถานการณ์โควิด ทำให้คนจนลง แต่คนรวย กลับเพิ่มจำนวน และ มีสินทรัพย์ถือครองเพิ่มมากขึ้น
ในทางออกนั้น ตัวเลขสินทรัพย์ที่เข้าเกณฑ์จะถูกจัดเก็บภาษีดังกล่าว ควรกำหนดเพดานที่สูงกว่า 300 ล้านบาท เพราะมีความห่วงใย กรณี คนที่มั่งคั่งไม่รู้ตัว จากการได้รับโอนมรดก เป็นที่ดินมูลค่าสูง ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีรายได้มหาศาล มรดกที่ดินที่ว่า อาจกลายเป็นภาระทางภาษีอย่างไม่รู้ตัว กลายเป็นโจทย์ที่ก้าวไกลอาจต้องมองไปให้ถึง ...
อย่างไรก็ตาม แนวคิด การหาเงินแก้เศรษฐกิจ โดยการเรียกร้องเก็บภาษีจากกลุ่มคนรวย ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ เพราะในอดีต รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยได้รับจดหมายเปิดผนึก จาก เครือข่ายภาคประชาชน ให้รัฐเก็บภาษีต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้ง ภาษีความมั่นคั่ง-กำไรจากการขายหุ้น และเพิ่มภาษีนิติบุคคลเป็น 25% เพื่อให้รัฐมีงบประมาณในการนำมาใช้บริหารประเทศได้มากขึ้น ลดช่องว่างทางฐานะเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นการกระจายทรัพยากรของประเทศให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน
ขณะเดียวกัน ภาษีความมั่งคั่ง ยังเป็นข้อเสนอของธนาคารโลก ที่มีต่อใทย หลังไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเท่าเทียมของประชากรน้อยที่สุดในเอเชีย โดยเมื่อปี 2564 ไทยเป็นประเทศที่มีมหาเศรษฐีมากถึง 52 คน (Hurun Rich List) มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังมากกว่าจำนวนมหาเศรษฐีในอิตาลี, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ด้วยซ้ำ ขณะในปีเดียวกัน ประเทศไทยมีจำนวนคนจน 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 6.32%
นี่อาจเป็นทางแยกที่ต้องเลือก ว่าพรรคก้าวไกล จะยอมแลก ผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ที่ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ในระบบ และมีผลอย่างยิ่งต่อ GDP จากเสียงเป็นห่วงที่ออกมา กับ เป้าหมายสูงสุด ทลายทุนผูกขาด คืนความเป็นธรรมให้กับประชากรทุกกลุ่ม เพื่อมุ่งเพิ่มรัฐสวัสดิการ ปูรากฐาน สร้างเศรษฐกิจโตเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง