นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยในงานเปิดตัวรายงาน เรื่องการประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐ ของประเทศไทย : การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน จัดโดยธนาคารโลกว่า ธนาคารโลกประเมินว่า การใช้นโยบายการคลังของไทยช่วงก่อนโควิดถือว่าสมเหตุสมผล ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ โดยได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 2 ฉบับ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูง แต่ไม่ได้สูงที่สุดในโลก เพื่อนำมาช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หากรัฐบาลไม่ออกมาตรการช่วยเหลือ อาจทำให้ปี 63 เศรษฐกิจไทยติดลบมากกว่า 6% “เศรษฐกิจไทย ฟื้นหลังโควิดเป็นประเทศแรกๆในโลก แม้ไม่ได้ฟื้นอย่างโดดเด่น แต่ค่อยๆฟื้น และเมื่อปี 65 เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้รายได้ของรัฐบาลดีขึ้นกว่าช่วงปี 63-64 ที่รายได้ไม่เข้าเป้า เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวจากผลของโควิด”
นอกจากนี้ ธนาคารโลกแนะนำว่า การใช้นโยบายการคลังระยะต่อไป ควรใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางไม่ควรเหวี่ยงแห เพราะรัฐบาลมีภาระต้องจัดสรรงบประมาณหลายเรื่อง ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐ แนะนำให้มุ่งไปที่การแพทย์ สาธารณสุข เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีโรคระบาดอีกหรือไม่ สำหรับปีงบประมาณ 66 มั่นใจจะจัดเก็บรายได้เกินเป้าหมายอยู่ที่ 2.49 ล้านล้านบาท โดยช่วง 7 เดือนแรก (เดือน ต.ค.64-เม.ย.65) จัดเก็บได้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.4% และสูงกว่าเป้าหมาย 8.9% ส่วนปี 67 ตั้งเป้าขาดดุลงบ 3% และปี 70 ขาดดุล 2.79%
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย.66 มีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวดี และเงินเฟ้อลดลง แม้การลงทุนภาคเอกชนทรงตัว สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 8.4% ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลง 30% “เสถียรภาพเศรษฐกิจยังดี แรงกดดันจากราคาสินค้าลดลงต่อเนื่อง สัดส่วนหนี้สาธารณะสิ้นเดือน มี.ค.66 อยู่ที่ 61.2% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ ขณะที่เสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ เพราะทุนสำรองระหว่างสิ้นเดือน เม.ย. 66 สูงถึง 2,234 ล้านเหรียญสหรัฐฯ”.