หนี้ครัวเรือนระเบิดเวลาไทย ธปท.ชี้ขึ้นดอกเบี้ยดันหนี้เสียเงินกู้บ้านพุ่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

หนี้ครัวเรือนระเบิดเวลาไทย ธปท.ชี้ขึ้นดอกเบี้ยดันหนี้เสียเงินกู้บ้านพุ่ง

Date Time: 23 พ.ค. 2566 08:33 น.

Summary

  • สศช.เผยหนี้ครัวเรือนเป็นระเบิดเวลาสำหรับไทย เป็นเรื่อง ท้าทายของทุกรัฐบาล จี้ทุกภาคส่วนเร่งแก้ไข ด้าน ธปท.ชี้ขึ้น ดอกเบี้ยพ่นพิษ สินเชื่อแบงก์ไตรมาสแรกชะลอ หนี้เอ็นพีแอล สินเชื่อบ้านพุ่ง ห่วงหนี้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง

Latest

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาดธุรกิจค้าปลีกปี 2568 โต 3-5% หวังแรงหนุนจากท่องเที่ยวและส่งออก

สศช.เผยหนี้ครัวเรือนเป็นระเบิดเวลาสำหรับไทย เป็นเรื่อง ท้าทายของทุกรัฐบาล จี้ทุกภาคส่วนเร่งแก้ไข ด้าน ธปท.ชี้ขึ้น ดอกเบี้ยพ่นพิษ สินเชื่อแบงก์ไตรมาสแรกชะลอ หนี้เอ็นพีแอล สินเชื่อบ้านพุ่ง ห่วงหนี้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง จับตาสินเชื่อที่เริ่มขาดส่งกว่า 6 แสนราย เร่งพยุงไม่ให้เป็นหนี้เสีย

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยในการแถลงข่าวภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 66 ว่า หนี้สินครัวเรือนล่าสุดไตรมาส 4 ปี 65 มีมูลค่า 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% ชะลอตัวจาก 4.0% ของไตรมาสที่ผ่านมา แต่เมื่อปรับฤดูกาล เพิ่มขึ้น 1.1% และมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) 86.9% ขณะที่ความสามารถชำระหนี้ของครัวเรือนทรงตัว โดยมีสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อรวมในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.62% ทรงตัวเมื่อเทียบไตรมาสก่อน แต่ความสามารถชำระหนี้ยังมีความเสี่ยงในสินเชื่อรถยนต์ที่มีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (เอสเอ็มแอล) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังมีมูลค่าสูงและมีบัญชีหนี้เสียเพิ่มขึ้น

“หนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่น่ากังวลและเป็นเหมือนระเบิดเวลา เป็นความท้าทายของทุกรัฐบาล การปรับโครงสร้างหนี้เป็นความจำเป็น ต้องอาศัยทุกภาคส่วนเร่งรัดแก้ปัญหา โอกาสที่จะระเบิดจริง เท่าที่ดู ถ้าการจ้างงานยังไปได้ระดับนี้ และเศรษฐกิจยังเติบโตได้ ระเบิดก็ยังไม่ระเบิด”

สำหรับการจ้างงานไตรมาส 1 ปี 66 ดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และการว่างงานลดลงสู่ระดับปกติ โดยมีอัตราการว่างงานที่ 1.05% ของกำลังแรงงาน มีผู้ว่างงาน 420,000 คน เพราะมีการขยายตัวของการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม แรงงานทำงานล่วงเวลามากขึ้นและได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมขยายตัว 1.6% นอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 2.7% จากการขยายตัวของการจ้างงานสาขาการค้าส่งและค้าปลีก และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ส่วนการจ้างงานสาขาการผลิตขยายตัวเล็กน้อย ขณะที่สาขาที่จ้างงานลดลง ได้แก่ ขนส่ง/เก็บสินค้าและ ก่อสร้าง ที่หดตัวถึง 7.2% และ 1.6% ตามลำดับ ส่วนผู้เสมือนว่างงาน ลดลงกว่า 11.3%

ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปี 66 ว่า ยังมีเสถียรภาพที่ดี มีเงินกองทุนและเงินสำรองสำหรับรองรับหนี้สงสัยจะสูญ และสภาพคล่องสูง ยังปล่อยเงินเพื่อฟื้นเศรษฐกิจได้ แต่กำไรสุทธิชะลอตัวลงเทียบไตรมาสก่อน ขณะที่สินเชื่อชะลอลง โดยเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% เทียบระยะเดียวกันของปีก่อน จากการขายหนี้เสียบางส่วนของธนาคารพาณิชย์ออก และการชำระคืนหนี้ของภาครัฐ ขณะเดียวกัน ผลจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่ออกตราสารหนี้เพื่อลดความเสี่ยง และนำเงินมาใช้คืนสินเชื่อ ขณะที่เอสเอ็มอียังทยอยคืนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนของ ธปท. เมื่อแยกประเภทสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อธุรกิจลดลง 0.3% สินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง โดยเพิ่มเพียง 2.1%

สำหรับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไตรมาสนี้ แม้ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน แต่ยังต้องติดตามความสามารถชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบางที่รายได้ฟื้นตัวช้าและมีหนี้สูง ส่วนเอ็นพีแอล อยู่ที่ 2.68% ของวงเงินสินเชื่อรวม จาก 2.73% ในไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม เอ็นพีแอลของสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นเป็น 2.68% ของสินเชื่อรวมจาก 2.62% โดยเอ็นพีแอลของสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้นสูงสุด อยู่ที่ 3.16% จาก 3.01% เพราะได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมา และเอ็นพีแอลของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 1.89% จาก 1.88%

“ไตรมาสที่ผ่านมา ลูกหนี้รายย่อยที่เข้า โครงการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารพาณิชย์กลับมาเพิ่มขึ้น ล่าสุดอยู่ ที่ 5.26 ล้านบัญชี แต่มาตรการแก้หนี้ของ ธปท. ยังครอบคลุมการดูแลลูกหนี้ได้ ขณะเดียวกัน กำลังติดตามลูกหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือลูกหนี้ที่เริ่มไม่ส่งหนี้ตั้งแต่ 30 วัน แต่ยังไม่ถึง 90 วัน (ไม่เป็นเอ็นพีแอล) 660,000 ราย ที่มีโอกาสเป็นหนี้เสียได้”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ