สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรกปี 2566 ขยายตัวสูงเกินคาด 2.7% จากปีก่อนหน้า และ 1.9% จากไตรมาส 4 ของปี 2565 เป็นผลมาจากการส่งออกบริการและการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว สืบเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการกลับมาขยายตัวของการใช้จ่ายหมวดบริการที่เพิ่มขึ้น 11.1% จากกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร
ด้านตัวเลขเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานลดลงอยู่ที่ 1.05% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 3.9% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4 พันล้านดอลลาร์ (13.9 หมื่นล้านบาท) ขณะที่เงินทุนสํารองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน มีนาคม 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 10,797,505.5 ล้านบาท คิดเป็น 61.2% ของ GDP
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสนี้ อยู่ที่ระดับ 46.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 42.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 3 ปี การลงทุนรวมขยายตัว 3.1% ชะลอลง 3.9% ตามกำไรชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว 2.6% โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.7% จาก 1.5% ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจขยายตัว 6.9% และ 1.8% ตํามลําดับ
ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีปริมาณและมูลค่าลดลง เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การนำเข้าสินค้าขยายตัว 1.3% มีมูลค่า 66,860 ล้านดอลลาร์ โดยปริมาณนําเข้าลดลง 3.3% แต่ราคานําเข้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 2.9 พันล้านดอลลาร์ รวม 104.4 พันล้านบาท ส่วนปริมาณส่งออกลดลงกว่า 6.4% มูลค่าส่งออกลดลง 4.6% อยู่ที่ 69,806 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ พบการส่งออกสินค้าไปยังตะวันออกกลาง อินเดีย สหราชอาณาจักร โดดเด่น
กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง เช่น เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สําหรับยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ยางพารา และอาหารสัตว์ กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์นั่ง รถกระบะและรถบรรทุก เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ในห้องน้ําและเครื่องสําอาง น้ําตาล ข้าว และทุเรียน
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจ คาดว่าจะขยายตัว 2.7-3.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และการขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป คือ การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือ ที่จะต้องให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้า การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร และการรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศในช่วงหลังการเลือกตั้ง
ซึ่งจะต้องจับตาการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้น ที่จะส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะหลังจากนี้ไม่น้อย โดยหนึ่งในกุญแจสำคัญ คือ ความราบรื่นในการเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจของรัฐบาล หลังจากที่ได้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่เสียงประชาชนส่วนใหญ่จากผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ไว้วางใจพรรคก้าวไกล โดยกวาดจำนวน ส.ส.ในสภาไปจำนวน 151 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย 141 ที่นั่ง
และล่าสุดพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วม 5 พรรค ได้แก่ ก้าวไกล เพื่อไทย ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย ประชาชาติ รวมทั้งหมด 309 เสียง