ชู “เงินกู้โควิด” ผลงานชิ้นโบแดง เพิ่มมูลค่าจีดีพี 8 แสนล้าน-เศรษฐกิจโต 4.89%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ชู “เงินกู้โควิด” ผลงานชิ้นโบแดง เพิ่มมูลค่าจีดีพี 8 แสนล้าน-เศรษฐกิจโต 4.89%

Date Time: 10 พ.ค. 2566 08:30 น.

Summary

  • ประทับตรา “ผลงานดีมาก” ครม.รับทราบประเมินผลเงินกู้โควิดก้อนแรก 3 แผนงาน ส่งผลให้มูลค่าจีดีพี รวมตั้งแต่ปี 2563–2566 เพิ่มขึ้น 0.80 ล้านล้านบาท จีดีพีเพิ่มขึ้น 4.89% ปลื้มสุด

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ประทับตรา “ผลงานดีมาก” ครม.รับทราบประเมินผลเงินกู้โควิดก้อนแรก 3 แผนงาน ส่งผลให้มูลค่าจีดีพี รวมตั้งแต่ปี 2563–2566 เพิ่มขึ้น 0.80 ล้านล้านบาท จีดีพีเพิ่มขึ้น 4.89% ปลื้มสุด ชูมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบช่วยคนไทยบรรเทาภาระ–ลดหนี้–หมุนเงินเพิ่มกว่า 2 ล้านล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานการประเมินผลโครงการในภาพรวม รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 3 และรายงานการประเมินผลลัพธ์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในการดำเนินการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563

ประกอบด้วย แผนงานที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 จากการประเมินผล 51 โครงการ วงเงิน 63,398.96 ล้านบาท มีผลเบิกจ่าย 59,051.04 ล้านบาท คิดเป็น 93.14% ของกรอบวงเงิน ผลการ ดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 63,559.74 ล้านบาท มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่คาดว่ารัฐจะได้รับกลับคืนสูงสุดภายในเวลา 3 ปี 12,267.03 ล้านบาท ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่ติดเชื้อโควิด ยกระดับการวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีน และเพิ่มความเชื่อมั่นของบุคลากรทางการแพทย์ต่อระบบสาธารณสุข ของประเทศ ขณะที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและอาสาสมัครสาธารณสุขได้รับค่าตอบแทน เยียวยา และชดเชยค่าเสี่ยงภัย ทั้งสิ้น 6,222.14 ล้านบาท สถานพยาบาลและโรงพยาบาลทั่วประเทศได้รับการสนับสนุนครุภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ 33,820 รายการ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องเอกซเรย์ เครื่องตรวจความดัน รถพยาบาล วัสดุทางการแพทย์ และประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 45.90 ล้านโดส

แผนงานที่ 2 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จากการประเมินผล 20 โครงการ วงเงิน 709,059.02 ล้านบาท มีผลเบิกจ่าย 704,749.81 ล้านบาท คิดเป็น 99.39% ผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมากเกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2,304,509.85 ล้านบาท มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมที่คาดว่ารัฐจะได้รับกลับคืนสูงสุดภายใน 3 ปี 444,837.87 ล้านบาท ช่วยชะลอการเกิดหนี้เสียหรือการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือน บรรเทาผลกระทบครอบครัวจากเงินช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ ลดความ เครียดและความวิตกกังวลของประชาชน โดยส่วนนี้ เป็นการช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยรายได้ และบรรเทาค่าใช้จ่าย 704,749.72 ล้านบาท เช่น ประชาชนที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเราชนะ 32,866,393 ราย กลุ่มเปราะบาง 6,663,602 ราย และเกษตรกร 7,565,880 ราย

แผนงานที่ 3 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จากการประเมินผล 329 โครงการ วงเงินรวม 208,354.27 ล้านบาท มีผลเบิกจ่าย 185,538.47 ล้านบาท คิดเป็น 89.05% ผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 816,288.75 ล้านบาท มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมที่คาดว่ารัฐจะได้รับกลับคืนสูงสุดภายในเวลา 3 ปี 173,052.59 ล้านบาท มีการจ้างงานและรักษาระดับการจ้างงานในช่วงโควิด 237,884 ราย ยกระดับกำลังการผลิตผ่านการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่และพื้นที่ต้นแบบ “โคก หนอง นา” รวมทั้งยกระดับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ 55,651 แปลงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นการปรับปรุง ซ่อมแซมถนน จำนวน 548 แห่ง และจัดการแหล่งน้ำต่างๆ ทั้งแหล่งน้ำชลประทาน แหล่งน้ำบาดาล และแหล่งน้ำธรรมชาติ จำนวน 782 แห่ง

“ผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Gross domestic product GDP) จากการใช้จ่ายเงินกู้ 950,590.60 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รวมตั้งแต่ปี 2563-2566 เพิ่มขึ้น 0.80 ล้านล้านบาท และเมื่อพิจารณาตามแผนงาน พบว่า การใช้จ่ายเงินกู้ตามแผนงานที่ 2 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากที่สุด 0.59 ล้านล้านบาท นอกจากนั้น การใช้จ่ายเงินกู้ฯส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP Growth) ให้เพิ่มขึ้นทั้งหมด 4.89% โดย ในปี 2564 อัตราเติบโตเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 2.48% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อตั้งแต่ปี 2563-2566 ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 0.05% ต่อปี โดยในปี 2564 เพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 0.08%”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ