นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย.66 สำนักงาน ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 66 โดยยังคงสถานะไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) ต่ออีก 1 ปี ซึ่งกรมพร้อมเดินหน้าชี้แจงสหรัฐฯ ถึงพัฒนาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย และเร่งขับเคลื่อนแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา และเชื่อมั่นว่า หากดำเนินการตามแผนงานได้สำเร็จ ไทยจะหลุดจากบัญชี WL ในปีต่อไปแน่นอน ทั้งนี้ พบว่าสหรัฐฯ ยังคงมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับปัญหาการลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ การแอบอ้างสิทธิในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเตอร์เน็ต ความล่าช้าในการดำเนินคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา เป็นต้น
นายวุฒิไกรกล่าวต่อถึงการเดินหน้าป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ว่า ในช่วง 2 ปีนี้ กรมได้รับตำแหน่งประธานเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน (ANIEE) ซึ่งเป็นเวที ผลักดันให้สมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในรูปแบบปกติและออนไลน์ ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสม เป็นธรรมทันต่อสถานการณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การที่ไทยยังอยู่ใน WL ในปีนี้นั้น เพราะสหรัฐฯยังมีข้อกังวลอื่นๆ เช่น คำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรที่ยังคั่งค้างจำนวนมาก และเร่งรัดให้อนุมัติคำขอโดยเร็ว, เอกชน ไทยยังใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์, กระบวนการบังคับใช้กฎหมายล่าช้า, การดำเนินคดีกับผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และความเสียหายทางแพ่งที่ยังต่ำ, ข้อจำกัดด้านโควตาภาพยนตร์, เป็นต้น โดยสหรัฐฯจะทำงานร่วมกับไทยเพื่อแก้ปัญหา ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการค้าและการทุนสหรัฐฯ-ไทย และกรอบอื่นๆต่อไป โดยไทยยังคงอยู่ในบัญชี WL ต่อเนื่อง หลังจากปี 60 ที่ได้ปรับจากประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) มาอยู่ WL โดยประเทศ WL ในปี 66 มีทั้งสิ้น 22 ประเทศ.