นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การช่วยเหลือประชาชนหลังการแพร่ระบาดโควิด เน้นกลุ่มเป้าหมายให้ตรงจุด เน้นกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการใช้เงิน ประกอบกับรัฐมีงบประมาณจำกัด จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลัง อย่างมีเป้าหมายตรงกลุ่มบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ซึ่งการใช้นโยบายการคลังแบบพุ่งเป้าไปยังกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือ จะไม่ทำให้เกิดผลประโยชน์จากนโยบายไปตกอยู่ในกลุ่มคนที่ไม่สมควรได้รับ และการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยบริหารจัดการ ทำให้ข้อมูลของผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐเป็นปัจจุบันตลอดเวลา ทำให้การใช้นโยบายตรงกลุ่มเป้าหมาย และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ที่ได้รับการสนับสนุนทั้ง ธนาคารโลก (world bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
“การใช้นโยบายการคลังแบบพุ่งเป้าช่วยประหยัดงบ ประมาณ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีเรื่องการลงทะเบียนและคัดกรองกลุ่มคนที่มีคุณสมบัติจริงๆ เหลือ 14.50 ล้านคน ตอนนี้มีคนใช้จ่ายอยู่ 13 ล้านคน ถ้าไม่สามารถ คัดกรองคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม การใช้จ่ายก็จะมากกว่านี้ ดังนั้นเมื่อคัดกรองได้แล้ว เงินส่วนที่เหลือก็สามารถนำไปพัฒนาด้านอื่นได้”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การทำนโยบายการคลังแบบพุ่งเป้าหรือตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งได้จัดให้มีการลงทะเบียน เพื่อรับสวัสดิการปี 65 ผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน มีคนผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ 14.59 ล้านราย ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 5.05 ล้านราย เช่น มีรายได้เกิน 100,000 บาทต่อปี มีบัญชีเงินฝากเกิน 100,000 บาท มีบัตรเครดิต หรือมีวงเงินกู้บ้านหรือรถ กระทรวงการคลัง คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพื่อจัดสรรประชารัฐสวัสดิการปีละ 65,4000 ล้านบาท อีกโครงการที่เป็นการใช้นโยบายการคลังแบบพุ่งเป้า คือ โครงการเบี้ยยังชีพคนชรา ซึ่งปัจจุบันมีคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และลงทะเบียนเพื่อรับเบี้ยยังชีพ ราว 10-11 ล้านคน โดยปีงบประมาณ 66 ได้ตั้งงบฯไว้ 87,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 65 ที่ตั้งไว้ที่ 83,900 ล้านบาท เนื่องจากไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์.