นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.นี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินที่สามารถกระตุ้นอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมได้เฉลี่ย 0.33-0.53% และกระตุ้นให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวได้ 0.44-0.64% มาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเม็ดเงินที่มาจากงบประมาณในการจัดเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มูลค่า 5,945 ล้านบาท และมาจากเม็ดเงินค่าใช้จ่ายในกิจกรรมการหาเสียงของพรรคการเมือง ซึ่ง กกต.กำหนดให้ ส.ส.เขต ใช้จ่ายหาเสียงได้ 1.9 ล้านบาทต่อคนและ ส.ส.บัญชีรายชื่อใช้จ่ายได้ 44 ล้านบาทต่อพรรค
ดังนั้น จึงคาดว่าค่าใช้จ่ายในกิจกรรมหาเสียงพรรคการเมืองรวมอยู่ที่ 21,664-30,368 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลบวกมากที่สุด 5 กลุ่ม คือ อุปกรณ์วิทยุและเครื่องเสียง เครื่องแต่งกาย น้ำมันเชื้อเพลิง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สิ่งพิมพ์และการพิมพ์โฆษณา อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น ทั้งนี้ MPI เดือน มี.ค.66 อยู่ที่ 104.65 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4.56% ส่งผลให้ MPI ไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 101.07 หดตัว 3.94% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและยังพบว่าภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ที่ 66.06% และไตรมาสแรกเฉลี่ยที่ 63.66% ปัจจัยที่ทำให้ MPI หดตัว มาจากคำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ประเทศคู่ค้าเผชิญภาวะเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว.