ซีอีโอ UTA ประกาศเดินหน้าก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ต้นปี 2567 พร้อมเปิดให้บริการได้ปี 2570 หลังจากล่าช้าจากการระบาดของโควิด-19 ย้ำไม่หวั่นรถไฟเชื่อม 3 สนามบินยังเจรจาแก้ไขสัญญากับภาครัฐไม่เสร็จ
นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เปิดเผยในระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กับสำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)ว่า UTA จะเริ่มลงมือตอกเสาเข็มเพื่อเริ่มก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เฟสแรก ได้ในต้นปี 2567 หลังจากล่าช้าไป 3 ปี จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจะเป็นการนับการเริ่มต้นสัญญาปีที่ 1 จากสัญญาสัมปทาน ทั้งสิ้น 50 ปี และวางเป้าหมายเปิดให้บริการเฟสแรกได้ในปี 2570
“องค์ประกอบที่สมบูรณ์ของสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งยังอยู่ระหว่างการเจรจาแก้ไขสัญญากับทางรัฐบาล ทำให้การเริ่มก่อสร้างล่าช้าจากแผนเดิม แต่ไม่ใช่เงื่อนไขให้ UTA ไม่เริ่มต้นก่อสร้างสนามบิน หากรถไฟความเร็วสูงจะก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการช้าไปบ้าง ทาง UTA ก็ต้องมีกลไกบริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม ถ้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยิ่งเสร็จเร็วเท่าใดก็ยิ่งดีกับสนามบิน แต่ทั้งหมดไม่ทำให้เราช้าลงไป”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร UTA กล่าวคาดว่า การเปิดให้บริการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกในปี 2570 จะมีผู้โดยสารใช้บริการ 12 ล้านคนต่อปี ลดลงจากเป้าหมายเดิม 15.9 ล้านคนต่อปี ตามสมมติฐานนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หากถึงเวลานั้นจำนวนผู้โดยสารกลับมาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 15.9 ล้านคน การรองรับของเฟส 1 ก็สามารถรองรับได้ และเมื่อใดที่การใช้บริการสนามบินถึง 80% ของปริมาณที่รองรับได้ ทาง UTA ก็จะเริ่มก่อสร้างเฟส 2 ต่อทันที
ทั้งนี้ ภายใต้สัญญาสัมปทาน UTA จะรับผิดชอบการก่อสร้าง 5 ส่วน ประกอบด้วย 1.อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และอาคารเทียบเครื่องบินรอง 2.ศูนย์การขนส่งภาคพื้น (GTC) 3.ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway) 4.เขตประกอบการค้าเสรี (Cargo Village/Free Trade Zone) 5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (Cargo Complex) ขณะนี้ทั้งหมดอยู่ระหว่างการออกแบบและเตรียมการก่อสร้าง ลงเงินไปมากกว่า 1,000 ล้านบาท เฉพาะแบบที่แก้ไขไปมาขยำกระดาษทิ้งก็หลายร้อยล้านบาทแล้ว เพราะเป็นการวางแผนในวันนี้เพื่อใช้งานในอีก 5 ปีข้างหน้า และรวมตลอดสัญญาถึง 50 ปี จึงต้องออกแบบให้ลงตัวมากที่สุด
“แม้ตอนนี้ยังไม่นับหนึ่งทางสัญญา แต่ UTA ได้ทำงานไปเยอะแล้ว โดยเตรียมคอนเซปต์ด้านวิศวกรรมศาสตร์เพื่อใช้ประโยชน์ให้ครบวงจร ทั้งทำการประสานกับกองทัพเรือ รวมทั้งจัดทำการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ให้เรียบร้อย และทำการพัฒนาแนวคิดทางธุรกิจเพื่อให้เมืองการบินภาคตะวันออก ตอบโจทย์ใน 5-10 ปีข้างหน้า ที่สามารถดึงดูดการท่องเที่ยวได้ และสามารถเป็นศูนย์กลางธุรกิจ การอยู่อาศัย สันทนาการ ตลอดจนการจัดเตรียมว่าจะปฏิบัติได้อย่างไร ซึ่งต้องเตรียมกำลังคนให้พร้อมด้วย”
นอกจากนั้น ได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษา 3 ราย ประกอบด้วย 1.นาริตะ อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต จากญี่ปุ่น มาดูแลการบริหารจัดการดูแลลูกค้าในสนามบิน โดยเห็นความเป็นคนญี่ปุ่นมีความละเอียดอ่อนในการดูแลเรื่องนี้ได้ดีที่สุด 2.มิวนิค อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต จากเยอรมนีมาเป็นที่ปรึกษาดูแลการจัดวางสนามบินให้มีการเชื่อมกันอย่างต่อเนื่อง 3.ฮ่องกง อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต มาดูแลเรื่องของคาร์โก้ เพราะเห็นว่าสนามบินฮ่องกงมีการขนส่งสินค้าทางคาร์โก้อันดับหนึ่งของโลก
ทั้งนี้ โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 290,000 ล้านบาท ในส่วนของการก่อสร้างรันเวย์ที่สอง รับผิดชอบโดยกองทัพเรือ จะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2567 และเปิดให้บริการได้ปี 2570 เช่นกัน.