ไทยส่งออกแอร์อันดับ 2 ของโลก แนะใช้เอฟทีเอสร้างแต้มต่อเหนือคู่แข่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ไทยส่งออกแอร์อันดับ 2 ของโลก แนะใช้เอฟทีเอสร้างแต้มต่อเหนือคู่แข่ง

Date Time: 28 เม.ย. 2566 05:45 น.

Summary

  • จากสภาพอากาศทั่วโลกที่ร้อนขึ้นในหลายภูมิภาค ส่งผลให้หลายประเทศมีความต้องการใช้ และนำเข้าเครื่องปรับอากาศจากไทยมากขึ้น ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน อันดับ 2 ของโลก

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศทั่วโลกที่ร้อนขึ้นในหลายภูมิภาค ส่งผลให้หลายประเทศมีความต้องการใช้ และนำเข้าเครื่องปรับอากาศจากไทยมากขึ้น ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน อันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงจีน โดยปี 2565 ไทยส่งออกไปตลาดโลก 7,044 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9% เทียบช่วงเดียวกันของปี 2564 ส่วนช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 2566 ส่งออกมูลค่า 1,423 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 1% เทียบช่วงเดียวกันปี 2565 โดยเครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือติดผนัง มีสัดส่วนส่งออกสูงถึง 68% ของการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนทั้งหมด ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อาเซียน ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น

“อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศของไทยมีโอกาสส่งออกมากขึ้น เพราะได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอย่างครบวงจร รวมทั้งการเติบโตของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยมีกับคู่ค้า 18 ประเทศ ขยายส่งออกสินค้าไปตลาดคู่เอฟทีเอได้ ซึ่งจะช่วยปลดล็อกกำแพงภาษีและสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทย”

ทั้งนี้ ปัจจุบันคู่ค้าเอฟทีเอ 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ไม่เก็บภาษีนำเข้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนจากไทยแล้ว เหลือเพียง 2 ประเทศ ได้แก่ จีน และอินเดีย ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าบางรายการ เช่น จีน เก็บภาษีเครื่องปรับอากาศในยานยนต์ 5% และอินเดีย เก็บภาษีเครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือผนัง และเครื่องปรับอากาศในยานยนต์ 5%

อย่างไรก็ตาม กรมยังเดินหน้าผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนเพิ่มเติมให้ไทย ภายใต้การเจรจาเอฟทีเอกรอบต่างๆ ทั้งการทบทวนความตกลงที่มีอยู่แล้วและที่อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบทางด้านภาษี และช่วยขยายส่วนแบ่งตลาดให้กับสินค้าไทยในตลาดโลกเพิ่มขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ