“สนพ.” การันตีปริมาณไฟฟ้าสำรองมีเพียงพอ รองรับความต้องการใช้ของประชาชน คาด “พีก” ปีนี้ทะลุปรอท 3.9 หมื่นเมกะวัตต์ หลังทุบสถิติมาแล้ว 3 ครั้ง แนะหลัก 4 ป. ช่วยลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชน ยืนยันค่าไฟฟ้าแพงหรือถูกอยู่ที่ต้นทุนเชื้อเพลิง
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้รายงานสถิติปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีกไฟฟ้าในระบบของ 3 การไฟฟ้าคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในรอบปีนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ล่าสุดเกิดพีกที่ 32,963 เมกะวัตต์ ที่อุณหภูมิ 31.2 องศาเซลเซียส เมื่อเวลา 20.52 น.ของ
วันที่ 6 เม.ย. เนื่องจากอุณหภูมิในประเทศไทย ร้อนรุนแรง
ขณะที่ภาพรวมกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบของ 3 การไฟฟ้า ณ สิ้นเดือน ม.ค. อยู่ที่ 53,458 เมกะวัตต์ โดยสัดส่วนกำลังการผลิตมาจากแหล่งต่างๆ อาทิ กฟผ. 32% รองลงมาคือผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) 31% ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (เอสพีพี) 17% การนำเข้า/แลกเปลี่ยนไฟฟ้าจากต่างประเทศ 12% ฯลฯ ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพผลิตไฟฟ้า
อยู่ที่ 16,003 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง และมีสัดส่วนการผลิตจากก๊าซธรรมชาติสูงสุดถึง 51%
“พีก” ปีนี้ทะลุ 3.9 หมื่นเมกะวัตต์
ล่าสุดรายงานสถิติพีกในระบบของ 3 การไฟฟ้าในรอบปีนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยครั้งแรก เกิดเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา เวลา 15.43 น. อยู่ที่ 31,054.6 เมกะวัตต์ ครั้งที่ 2 วันที่ 4 เม.ย. ณ เวลา 15.28 น. อยู่ที่ 31,495.5 เมกะวัตต์ ครั้งที่ 3 วันที่ 6 เม.ย. ณ เวลา 20.52 น. อยู่ที่ 32,963 เมกะวัตต์ คาดว่าพีกปีนี้จะอยู่ที่ 39,000 เมกะวัตต์
จึงขอแนะนำให้ประชาชน ประหยัดพลังงาน โดยใช้หลัก 4 ป. ปฏิบัติการ คือ ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน การใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อความประหยัดของครัวเรือน คือ ปิด-การปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น ปรับ-ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 26 องศาเซลเซียส การปรับอุณหภูมิเพิ่ม 1 องศาสามารถประหยัดไฟเพิ่มขึ้น 10% และปรับคูล โหมด เป็นแฟน โหมด ควรปลด-ปลดปลั๊กไฟเมื่อเลิกใช้ เปลี่ยน-เปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานเบอร์ 5 เปลี่ยนเวลาที่ใช้ไฟฟ้า คือหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นใน 2 ช่วงเวลา คือ เวลา 13.00-15.00 น. และ 19.00-21.00 น.
ย้ำชัดไฟฟ้าสำรองมีเพียงพอ
ทั้งนี้ ภาครัฐได้เตรียมความพร้อมการผลิตไฟฟ้าสำรองไว้ให้ประชาชนอย่างเพียงพอ ผ่านแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan) เพื่อให้แผนดังกล่าวทําหน้าที่จัดหาโรงไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีการพยากรณ์ล่วงหน้าให้สอดคล้องกัน หรือมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากกว่าที่ได้พยากรณ์ไว้ ซึ่งกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) เป็นหนึ่งในแผนของ PDP มีตัวเลขสำรองไฟฟ้าที่ 15-25%
ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ Reserve Margin เป็นหลัก มีการใช้เกณฑ์ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation : LOLE) ควบคู่ไปด้วยกัน แต่สังคมส่วนใหญ่มีความเข้าใจ Reserve Margin มากกว่า ซึ่งการใช้ Reserve Margin มีความเหมาะสมในอดีต ตั้งแต่ปี 2539 เพราะขณะนั้นระบบไฟฟ้า และเศรษฐกิจในประเทศยังเติบโตไม่มากนัก ที่มีโรงไฟฟ้าที่เป็นฟอสซิลจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน จำนวนมาก
แต่ข้อเสียของ Reserve Margin คือ วัดได้เพียงจุดจุดเดียวในปีหนึ่ง ทําให้เป็นตัวแทนการสำรองไฟฟ้าจุดจุดเดียว ในช่วงหน้าร้อน เดือน มี.ค.-พ.ค. ที่เป็นการใช้การพยากรณ์จุดเดียว ให้เป็นตัวแทนสำรองไฟฟ้าทั้งประเทศ แต่การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าในอนาคต มีทั้งพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ที่เป็นพลังงานที่อาจมีความไม่เสถียร ฉะนั้นเกณฑ์การสำรองไฟฟ้าไม่สามารถใช้การวัดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง ในจุดจุดเดียวได้ ต้องมีการเปลี่ยนมาเป็นการวัดทุกช่วงเวลาแทน การเปลี่ยนมาใช้เกณฑ์การวัด LOLE จะตอบโจทย์ทุกช่วงเวลา ทุกชั่วโมง ช่วยลดอัตราความสูญเสีย โอกาสการเกิดไฟฟ้าตกหรือดับ
ค่าไฟฟ้าแพงหรือถูกอยู่ที่ “เชื้อเพลิง”
สำหรับการเปลี่ยนมาใช้เกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้า แบบ LOLE ในภาคประชาชนจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก เพราะไทย ได้ใช้เกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้าทั้ง “เกณฑ์กำลังไฟฟ้าผลิตสำรอง” และ “เกณฑ์ในโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ LOLE” ควบคู่กันในการวางแผนระบบไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันประชาชนบางส่วนอาจได้รับข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในความเป็นจริง กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเพิ่มค่าไฟฟ้าให้สูงขึ้น
“ปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เป็นสัดส่วน 60% ในการพิจารณา แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆร่วมด้วย เช่น ค่าก่อสร้าง โรงไฟฟ้า ระบบส่ง ระบบจำหน่ายต่างๆ ในปีที่ผ่านมาราคาของก๊าซธรรมชาติเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ทำให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และสงครามรัสเซียกับยูเครน ทำให้ราคา LNG ที่นำเข้ามีค่าใช้จ่ายสูง ส่งผลให้ต้นทุนไฟฟ้ามีราคาแพง”
ดังนั้น ปัจจุบันตัวเลขค่า LOLE ในประเทศไทยใช้ในเกณฑ์ 0.7 ซึ่งอาจสูงกว่าสหรัฐฯหรือเกาหลีใต้ที่อยู่ที่เกณฑ์ 0.1-0.3 แต่ก็ต่ำกว่าในบางประเทศ สนพ.ได้ศึกษาและวิเคราะห์ว่าเกณฑ์ค่า 0.7 เป็นเกณฑ์ที่เหมาะสมกับประเทศไทยสอดคล้องกับสถานการณ์การผลิต และการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันและอนาคต สามารถการันตีได้ว่าประเทศไทยจะมีกำลังไฟฟ้าใช้เพียงพอ และไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ทั้งประเทศ สามารถที่จะตอบสนองความต้อง การใช้ไฟฟ้าของประเทศ ทั้งในแง่ประสิทธิภาพและความมั่นคงในทุกชั่วโมงและตลอดทั้งปี.