ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง กำลังจะมา พบผลผลิตลดลง หลังสภาพอากาศไม่อำนวย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มสกัดทุเรียนอ่อน ไม่ให้เข้าสู่ตลาด
นางธีรารัตน์ สมพงษ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. กล่าวว่า ผลสรุปข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคตะวันออก ปี 2566 ข้อมูล ณ 5 เม.ย.66 ปริมาณผลผลิตของไม้ผล 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง จันทบุรี ตราด มีปริมาณผลผลิตรวมทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 1,053,328 ตัน ลดลงจากปี 2565 ที่มีจำนวน 1,262,899 ตัน (ลดลง 209,571 ตัน หรือ 17%) โดยแบ่งได้ดังนี้
- ลองกอง ลดลงมากที่สุด 62%
- มังคุด ลดลง 45%
- เงาะ ลดลง 35%
- ทุเรียน ลดลง 3%
โดยผลผลิตรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิดลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีฝนตกชุกช่วงปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2566 สลับกับอากาศหนาวเย็น ไม่เอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผลของไม้ผล อีกทั้งได้รับผลกระทบจากลมพายุ ลมแรงหลายรอบในช่วงเดือน ธ.ค.65 - ต้นเดือน เม.ย.66 ทำให้ดอกและลูกร่วงเสียหาย
ทั้งนี้ ผลผลิตได้ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และจะออกต่อเนื่องจนถึงเดือน ก.ย. โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วง เม.ย.66 หลังเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นไปต่อเนื่องถึงกลางเดือน พ.ค. 66 คิดเป็น 55% ของผลผลิตทั้งหมด
ด้านผลผลิตต่อไร่ของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด พบว่ามีจำนวน 1,604 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปี 2565 ที่มีผลผลิต 1,845 กิโลกรัมต่อไร่ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอก ไม่สามารถพัฒนาเป็นระยะติดผลได้
บางส่วนแตกใบอ่อนแทนการออกดอก อีกทั้ง ทุเรียนซึ่งเป็นไม้ผลหลัก ไม่สามารถรักษาโรครากเน่าโคนเน่าจากเชื้อราไฟทอปธอร่า (Phytophthora) และโรคกิ่งแห้งทุเรียนจากเชื้อราฟิวซาเรียม (Fusarium)
นอกจากนี้ ยังพบเพลี้ยไฟระบาดทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ ให้ผลผลิตได้ไม่เต็มต้น ประกอบกับมีต้นที่เริ่มให้ผลผลิต ปี 2566 เป็นปีแรก เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งต้นที่ให้ผลใหม่ปีแรกผลผลิตต่อไร่ยังไม่มาก เมื่อคำนวณโดยค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ ในปี 2566 ทั้ง 3 จังหวัด ได้กำหนดมาตรการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ หรือ ทุเรียนอ่อน ออกสู่ตลาด โดยประกาศกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียน 4 พันธุ์ ดังนี้
1. พันธุ์กระดุม และพันธุ์พวงมณี เก็บเกี่ยวได้วันที่ 10 มี.ค.66
2. พันธุ์ชะนี เก็บเกี่ยวได้วันที่ 20 มี.ค.66
3. พันธุ์หมอนทอง เก็บเกี่ยวได้วันที่ 15 เม.ย.66
หากเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวทุเรียนก่อนวันกำหนด ต้องนำตัวอย่างทุเรียนไปตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง ในเนื้อทุเรียน ณ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ จุดบริการ สถาบันที่เข้าร่วมโครงการ ในส่วนของล้งส่งออกต้องแจ้งด้านตรวจพืชจันทบุรี หรือ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี เพื่อสุ่มตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนก่อนปิดตู้ส่งออก ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร
โดยกำหนดค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนขั้นต่ำของพันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง พันธุ์ชะนี และพันธุ์พวงมณี ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง
และพันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง หากต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดถือว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ซึ่งผู้ใดจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ จะใช้มาตรการทางการปกครองและมาตรการ ทางกฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด
สำหรับในปี 2566 เครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทย มีแนวทางในการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพทุเรียนหมอนทองภาคตะวันออก โดยการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ผลิต ล้งส่งออก ผู้ประกอบการ ที่มีความสมัครใจในการตัดและรับซื้อทุเรียนคุณภาพที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนหมอนทองเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 35 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง
จากที่มาตรฐานกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 32% น้ำหนักแห้ง โดยล้งรับซื้อเป็นผู้จ่ายส่วนต่างค่าแขวนที่น้ำหนักหายไประหว่างรอตัดทุเรียนตามเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งที่เพิ่มขึ้น เพื่อผู้บริโภคปลายทางประเทศจีนได้ซื้อทุเรียนที่มีคุณภาพบริโภค
โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง สำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด สนับสนุนเกษตรกรที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการ มีล้งส่งออกที่สนใจเข้าร่วมโครงการแล้วรวมจำนวน 28 ล้ง ทั้งนี้ สสก.3 ได้นำข้อมูลเอกภาพนี้ไปบริหารจัดการการจัดตั้งวอร์รูมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ทั้งปริมาณการออกสู่ตลาดและราคาขายรายวัน