"สรรพสามิต" ปฏิรูปโครงสร้างเล็งทบทวนภาษีเครื่องดื่ม-เบียร์-บุหรี่-สิ่งแวดล้อม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"สรรพสามิต" ปฏิรูปโครงสร้างเล็งทบทวนภาษีเครื่องดื่ม-เบียร์-บุหรี่-สิ่งแวดล้อม

Date Time: 12 เม.ย. 2566 06:30 น.

Summary

  • ขณะนี้กรมสรรพสามิตได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างภาษีสรรพสามิต เพื่อทบทวนปรับปรุงแผนการเก็บภาษีในส่วนของกรมสรรพสามิตใหม่ทั้งระบบ เนื่องจากโครงสร้างภาษีเดิม

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิตในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างภาษีสรรพสามิต เพื่อทบทวนปรับปรุงแผนการเก็บภาษีในส่วนของกรมสรรพสามิตใหม่ทั้งระบบ เนื่องจากโครงสร้างภาษีเดิม ได้มีการปฏิรูปและประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2560 โดยประเด็นที่จะนำมาประกอบการพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีในครั้งนี้ จะคำนึงถึงการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก รวมถึงนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น เครื่องทำโซดาที่สามารถกดเองได้ควรเสียภาษี แต่เนื่องจากปัจจุบันมีความคลุมเครือของกฎหมายจึงยังไม่สามารถคิดอัตราภาษี ยังมีสินค้าเครื่องดื่มเบียร์ แอลกอฮอล์ 0% ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บภาษีในพิกัดของอัตราภาษีเครื่องดื่มคิดอัตราภาษีที่ 11% ต่อราคาขายปลีก เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้ อาจสร้างความเหลื่อมล้ำกับผู้ที่อยู่ในระบบภาษีโดยการทบทวนโครงสร้างภาษีต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมกันด้วย

“ที่ผ่านมาภาษีเครื่องดื่มยังมีพิกัดอัตราภาษีที่หลากหลาย ได้แก่ โซดา คิดอัตราภาษี 14% เครื่องดื่มผลไม้ พืชผัก คิดอัตราภาษี 10% แต่หากผู้ประกอบการมีการปรับสูตรตามที่กรมสรรพสามิตกำหนดก็จะคิดอัตราภาษี 0% ส่วนเครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำอัดลมคิดอัตราภาษี 14% และเครื่องดื่มเติมสารอาหารคิดอัตราภาษี 3-10% เป็นต้น ซึ่งอัตราเหล่านี้ก็ต้องทบทวนด้วยเช่นกันให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน”

นายเกรียงไกรกล่าวต่อว่า สำหรับภาษีบุหรี่จะต้องนำผลการใช้โครงสร้างภาษี 2 อัตราว่าเป็นอย่างไร ยังมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ยังตอบโจทย์ 4 ด้าน คือ สุขภาพ ปราบปรามบุหรี่เถื่อน การจัดเก็บรายได้ และไม่กระทบเกษตรกรผู้ปลูกใบยา รวมทั้งต้องศึกษาการกำหนดอัตราเดียวตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้กรมกลับมาศึกษาว่าดำเนินการได้หรือไม่ ส่วนบุหรี่ไฟฟ้านั้น กรมเคยมีแนวคิดที่จะเพิ่มเพื่อเข้าสู่พิกัดอัตราภาษีสินค้าอยู่ในการควบคุม แต่เนื่องจากยังเป็นสินค้าต้องห้าม เป็นสินค้าไม่ถูกกฎหมาย หากนำเข้ามาในพิกัดสินค้าจัดเก็บภาษีจะขัดกับนโยบาย จึงชะลอการศึกษาออกไปก่อน เช่นเดียวกันกับแผนการเก็บภาษีความเค็มที่ได้มีการศึกษาไว้แล้ว แต่เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ชะลอออกไปก่อน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ