นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยถึงความคืบหน้าจัดทำงบประมาณปี 67 ว่า แม้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบันเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 แล้ว และตามขั้นตอนปกติจะต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่เนื่องจากในปี 67 มีการเลือกตั้ง จึงต้องหยุดขั้นตอนต่างๆทางกฎหมายไว้ก่อน เพื่อรอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาทบทวน รายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายใหม่ ก่อนเดินหน้าตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป
โดยตามปกติ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีจะประกาศใช้ช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. แต่ในปีที่มีการเลือกตั้ง การจัดทำงบจะล่าช้ากว่าปกติ เพื่อรอรัฐบาลใหม่เข้ามาทบทวนรายละเอียดก่อน เพราะถือเป็นอำนาจของรัฐบาลใหม่ โดยสำนักงบประมาณคาดว่า แม้จะมีความล่าช้า แต่จะอยู่ในกรอบระยะเวลา 3-6 เดือน กรณีล่าช้าที่สุด คาดว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 67 จะประกาศใช้ได้ไม่เกินไตรมาสที่ 1 ปี 67 หรือไม่เกินเดือน มี.ค.67
ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่มีทางเลือก 2 ทาง คือ เอากรอบงบประมาณเดิม และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 ที่รัฐบาลเดิมจัดทำไว้ ที่วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 593,000 ล้านบาทนั้น มาใช้เป็นกรอบจัดทำงบปี 67 ต่อได้เลย ซึ่งจะทำให้การจัดทำงบทำได้เร็ว เพราะมีกรอบเดิมอยู่แล้ว หรืออีกกรณีหนึ่ง หากรัฐบาลใหม่ทบทวนแล้ว และต้องการจัดทำใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่การจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณ ที่ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและ
สังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง กำหนดกรอบงบประมาณร่วมกับรัฐบาล ก็สามารถทำได้ แต่จะใช้เวลานานหลายเดือน เพราะมีขั้นตอนตามกฎหมายวิธีการจัดทำงบประมาณที่ต้องดำเนินการ
“การจัดทำงบปี 67 มีปัจจัยเรื่องพรรคการเมืองที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้าด้วย หากมีการเปลี่ยน แปลงพรรคแกนนำที่ต่างจากรัฐบาลนี้ ก็เป็นไปได้ที่จะทบทวนกรอบและรายละเอียดใหม่ ทำให้อาจใช้เวลาจัดทำเพิ่มขึ้น สำนักงบก็จะเตรียมประกาศเกณฑ์ในการใช้งบประมาณไปพลางก่อนและเสนอปฏิทินงบใหม่ให้รัฐบาลใหม่รับทราบ ขณะเดียวกัน ต้องจัดทำงบปี 68 ควบคู่กันไปด้วยเหมือนปี 62 ที่มีการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้การใช้งบปีถัดไปล่าช้า”.