ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร

Date Time: 1 เม.ย. 2566 05:30 น.

Summary

  • องค์กรต่างๆในที่นี้ครอบคลุมทั้งธุรกิจ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรอิสระของรัฐ ผู้ดำเนินนโยบายภาครัฐ และอาจหมายรวมไปถึงภาคการศึกษาได้ จึงเป็นความหมายกว้างขวางที่เหมาะสมกับการสร้างผลบวก

Latest

ภารกิจผู้ว่าฯ รฟท.คนใหม่ แก้หนี้ 2.3 แสนล้าน สร้างรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง


ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์

ชื่อบทความในวันนี้ ออกจะใกล้ตัวอยู่สักหน่อย เพราะเป็นชื่อฝ่ายงานปัจจุบัน ที่ผู้เขียนมีส่วนร่วมในการกำหนดที่มาที่ไป เป้าหมาย บทบาทหน้าที่ ตลอดจนความคาดหวัง ซ้ำยังตั้งชื่อเป็นภาษาไทยเอาเองภายใต้ความเห็นชอบของประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ขอขอบคุณโอกาสและความไว้วางใจ ณ ที่นี้ ผู้เขียนขอแลกเปลี่ยนมุมมองของประเด็นตามชื่อหัวข้อบนฐานคิดจากบทความ “Strategizing Across Organizations” ในวารสาร Sloan Management Review ของ MIT ฉบับฤดูใบไม้ผลิปีนี้

สารัตถะของบทความนี้ คือการใช้ประโยชน์จากโอกาสครั้งใหญ่และการแก้ปัญหาเชิงระบบ ต้องอาศัยการเดินหน้าไปพร้อมๆ กันขององค์กรต่างๆ เพื่อสรรค์สร้างยุทธศาสตร์ร่วม น่าสังเกตว่าคำว่า องค์กรต่างๆในที่นี้ครอบคลุมทั้งธุรกิจ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรอิสระของรัฐ ผู้ดำเนินนโยบายภาครัฐ และอาจหมายรวมไปถึงภาคการศึกษาได้ จึงเป็นความหมายกว้างขวางที่เหมาะสมกับการสร้างผลบวกให้แก่ประเทศหรือจัดการปัญหาเชิงโครงสร้าง

บทความได้ถอดบทเรียนการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย Global Outbreak Alert and Response Network (GOARN) ซึ่งประกอบด้วยกว่า 250 องค์กรพันธมิตร ที่ทำงานร่วมกันเพื่อให้สามารถแจกจ่ายทรัพยากรให้ทั่วถึงตามความต้องการในช่วงวิกฤติสาธารณสุขระหว่างประเทศ เช่น โควิด-19 ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนหรือ steering committee ประกอบด้วยสมาชิก 21 ท่าน ที่บริหารการทำงานร่วมกันขององค์กรชั้นนำของโลก อาทิ United Nations, International Humanitarian Organizations และ Government Public Health Agencies

หน่วยงานที่ทำหน้าที่เอื้ออำนวยการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์ร่วมกัน คือ Strategy Lab ของมหาวิทยาลัย Oxford โดยใช้วิธีการกำหนดฉากทัศน์หลากหลายรูปแบบให้คณะกรรมการขับเคลื่อนสร้างความตระหนักรู้และพัฒนาระบบการสร้างมูลค่าร่วมกันในบริบทของแต่ละสถานการณ์

โดยพบว่าสิ่งที่ผู้นำทั้งหลายพึงสังวรในการสร้างยุทธศาสตร์ร่วม คือการสร้างนิยามร่วมให้มีความเข้าใจตรงกัน การสร้างความเข้าใจถึงบทบาทของแต่ละภาคส่วนในภาพใหญ่ การให้น้ำหนักกับความสัมพันธ์และความเห็นต่าง ตลอดจน การกระตุ้นให้เกิดเป้าหมายร่วมกัน

โจทย์หลักที่นับว่าอยู่ภายใต้การทำงานในลักษณะนี้ของไทย คือ การปราบปรามภัยทุจริตการเงิน ภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. โดย พ.ร.ก. ได้ปลดล็อกข้อจำกัดในการแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายและผู้ต้องสงสัย เพื่อที่ผู้ให้บริการทางการเงินและโทรคมนาคมจะมีส่วนร่วมกับผู้บังคับใช้กฎหมายแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที

โดยเกิดการทำงานร่วมกันของธนาคารทุกแห่ง ตามความชำนาญของสมาชิกชมรมต่างๆของสมาคมธนาคารไทย ทั้งสำนักงานระบบการชำระเงิน ชมรม Fraud ชมรม Legal ชมรม Compliance และบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด เป็นมิติใหม่ในการหลอมรวมการทำงาน

ตัวอย่างในภาควิชาการ คือ โครงการวิจัยเชิงกลยุทธ์ “เศรษฐกิจดิจิทัลและงานในอนาคต : การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคการเงิน” สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นำโดยสถาบันเอเชียศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับหกสถาบันกำหนดยุทธศาสตร์วิจัยร่วม ครอบคลุมประเด็นของไทย จีน อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ