นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เกาะติดสถานการณ์การส่งออกของไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจของไทย โดยเชื่อว่าเมื่อเห็นตัวเลขส่งออกในไตรมาสแรกปีนี้ ก็จะสามารถประเมินภาวะเศรษฐกิจของไทยได้ แต่ขณะนี้ยังยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยยังจะขยายตัวในช่วง 3-4% เช่นเดิม โดยกระทรวงการคลังไม่ได้นิ่งนอนใจ เกาะติดปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด แม้ยอดส่งออกจะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปีนี้ ล่าสุดได้ข่าวว่ายอดส่งออกเริ่มดีขึ้นแล้ว ฉะนั้นต้องรอการประกาศตัวเลขชัดเจนอีกครั้ง
“การฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศนั้น เป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในไทยต่อเนื่อง ฉะนั้น การให้บริการนักท่องเที่ยวต้องไม่สะดุด โดยเฉพาะการให้บริการที่สนามบินต้องอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทย 27.5 ล้านคน”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 29 มี.ค.นี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการปรับประมาณการเศรษฐกิจรอบแรกของปี 2566 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กนง.จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากระดับปัจจุบันที่ 1.50% ไปสู่ 1.75% และน่าจะเป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้ จาก 2 เหตุผลหลัก คือ 1.แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลงเห็นได้จากเงินเฟ้อของไทยเดือน ก.พ.ที่เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน โดยชะลอตัวลงมาเหลือ 3.79% และ 2. คือ แรงกดดันจากนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางทั่วโลกลดลง
ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่า กนง.จะมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เนื่องจากยังมีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย เพื่อดึงเงินเฟ้อให้ย่อตัวลง และมองว่า กนง.ครั้งนี้จะจบรอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้เช่นกัน ขณะที่ น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มงานโกลบอลมาร์เกต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่าที่ประชุม กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% และมีโอกาสที่มติจะไม่เป็นเอกฉันท์ ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณการหยุดพักการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไป.