นำประเทศไทยกลับสู่เวทีโลกอีกครั้ง ภารกิจ "ปานปรีย์ พหิทธานุกร" แห่งเพื่อไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

นำประเทศไทยกลับสู่เวทีโลกอีกครั้ง ภารกิจ "ปานปรีย์ พหิทธานุกร" แห่งเพื่อไทย

Date Time: 27 มี.ค. 2566 06:40 น.

Summary

  • ขณะที่โลกกำลังเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มีคำถามว่า ในบริบทของการเมืองไทยที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

Latest

รู้จัก “หวย N3” คู่แข่งหวยใต้ดิน ความหวังใหม่รัฐบาล  ต้อนเงินเข้าระบบ 1 แสนล้านบาท เริ่มขาย 17 ต.ค

ขณะที่โลกกำลังเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มีคำถามว่า ในบริบทของการเมืองไทยที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ อันเป็นระบอบการปกครองที่นานาอารยประเทศให้การยอมรับนั้น อะไรคือคำตอบที่จะนำพาประเทศไทยกลับเข้าสู่เวทีโลกอีกครั้ง

นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ หรือชุดที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา นโยบายเศรษฐกิจและสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือนโยบายการต่างประเทศ ใช่หรือไม่ และคำตอบก็คือ ใช่ นโยบายรัฐบาลและนโยบายการต่างประเทศสมัยใหม่ที่จะช่วยย่นย่อเวลาและโอกาสที่หายไปเพื่อผลักดันประเทศไทย กลับขึ้นไปยืนบนเวทีโลกได้อีก ครั้งนี้ดูเหมือนจะมีพรรคเพื่อไทยที่ปักธงนำเสนอนโยบายต่างประเทศในรูปแบบที่รวบรัด และสามารถสอดประสานกับนโยบายต่างประเทศของเพื่อนบ้านสำคัญๆอย่างสิงคโปร์ และประเทศชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนได้ก็คือดิจิทัล อีโคโนมี (Digital Economy)

ดิจิทัล อีโคโนมี ไม่ใช่คำใหม่ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการปฏิบัติจริง มีความทันสมัย และไม่ตกขบวนไปอีกครั้งนั้น “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ไปขอสัมภาษณ์ ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตผู้แทนการค้าไทย และหนึ่งในทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย

“สิ่งที่ทำได้เร็วที่สุดคือ ทำนโยบายต่างประเทศที่ปักหมุดลงในถิ่นที่ประเทศไทยตั้งอยู่ก่อนก็คือ ภูมิภาคอาเซียนนี่เอง” ดร.ปานปรีย์กล่าว

การเข้าร่วมความตกลงเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ได้อย่างเต็มรูปแบบก็คือ เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Partnership Agreement) หรือ DEPA ซึ่งเป็นความตกลงที่ทันสมัย และเป็นโมเดลของเวทีการค้า ที่สำคัญสำหรับอนาคต

โดย DEPA เป็นความตกลงแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลโดยเฉพาะระหว่างสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และชิลี มีผลบังคับใช้เมื่อเดือน มิ.ย.2563 และล่าสุด จีนเพิ่งยื่นขอเข้าเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 แต่ก่อนหน้านั้น เกาหลีใต้ได้ยื่นขอเข้าร่วมเมื่อเดือน ก.ย. ขณะที่ แคนาดากำลังประเมินความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมเช่นกัน

ความตกลงนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลสามารถดำเนินธุรกิจระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิ ภาพมากขึ้น เพราะมีการออกมาตรการลดอุปสรรค และอำนวยความสะดวกด้านการค้าดิจิทัล เช่น มีการพัฒนาระบบการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเพื่อความปลอดภัย ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบริษัทต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมฟินเทค ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจในการค้าดิจิทัล เช่น ส่งเสริมการนำแนวทางกำกับดูแลระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีจริยธรรมมาใช้ ฯลฯ และสร้างนวัตกรรมเพื่ออำนวยการค้าระหว่างกันในเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น ความร่วมมือด้านการพัฒนากลไกเพื่อส่งเสริมมาตรฐานและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การอำนวยความสะดวกด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ โดยการแบ่งปันข้อมูลข้ามพรมแดน ฯลฯ

“ผมเสนอให้ไทยเข้าร่วมความตกลง DEPA เพราะเป็นความตกลงสมัยใหม่ และเป็นโมเดลสำคัญของการค้าในขณะนี้และในอนาคต เพราะการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากประเทศไหนก็ทำเหมือนกันหมด จึงควรทำให้เป็นงานประจำของข้าราชการ ที่ต้องสานต่อให้สำเร็จในหลายประเทศที่ประเทศไทยทิ้งช่วงขาดตอนมานาน” ดร.ปานปรีย์กล่าว

อดีตผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ได้ดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ชัดเจนมาเป็นเวลานาน ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศ และการตั้งเป้าหมายดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศ เพื่อสร้างงานสร้างรายได้อันเป็นเศรษฐกิจที่แท้จริง เข้ามาช่วยผลักดันให้คนไทยมีงานและมีรายได้เพิ่มขึ้น

“ในนโยบายใหญ่ของพรรคเพื่อไทย คือ ให้เร่งมือออกไปดำเนินนโยบายต่างประเทศให้ได้ผลอย่างจริงจัง และเป็นประโยชน์กับคนไทยมากที่สุด”

ยกตัวอย่างของอดีตผู้นำอินโด นีเซียที่เดินทางไปพบผู้นำรัสเซียเพื่อเจรจาขอซื้อน้ำมันในราคาต่ำ พร้อมๆ กับการขอให้เปิดทางส่งวัตถุดิบทางการเกษตรให้แก่อินโดนีเซีย แม้ในยามที่มีการสู้รบกันระหว่างรัสเซียกับยูเครนในเวลาเดียวกัน อดีตผู้นำอินโดนีเซียได้เดินทางไปเยือนจีนเพื่อพบกับผู้นำจีนอย่างเป็นทางการด้วยการยื่นเงื่อนไขให้จีนเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ใหญ่ในอินโดนีเซีย ซึ่งทั้งหมดล้วนประสบความสำเร็จ

การดำเนินนโยบายการต่างประเทศเช่นนี้ ทำให้หลายประเทศรอดผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 กลับมาฟื้นตัวได้เร็ววัน ในขณะที่ประเทศไทยมีอัตราการฟื้นตัวต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ลงไปอยู่ในระนาบเดียวกับ กัมพูชา ลาว และเมียนมา

ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า ผู้นำรัฐบาลต้องมีความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก เพื่อให้สามารถกำหนดทิศทางใหม่ของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและดุลยภาพทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การต่างประเทศ รวมทั้งความมั่งคั่ง-มั่นคงของประเทศได้

ความเข้าใจเหล่านี้ ยังสามารถทำให้ประเทศไทยมีความยืดหยุ่น และสามารถปรับตัวได้ทันเหตุการณ์ ในขณะเดียวกัน ยังสามารถสร้างพันธมิตรทางการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับหลายประเทศได้ทั้งในแบบพหุภาคีและทวิภาคีด้วย

“แม้ช่วงเวลาต่างๆ ทั้งที่ผ่านมา และที่กำลังจะเกิดขึ้น จะมีความไม่แน่นอนสูง และเสี่ยงต่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า วิกฤตการณ์ทางการเงิน สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมไปถึงปัญหาในคาบสมุทรไต้หวัน และทะเลจีนใต้ที่อาจส่งผลกระทบ กระเทือนโลกได้โดยไม่ทันรู้ตัว...

แต่ความชัดเจนของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลก คือ โอกาสในวิกฤติที่จะทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจประเทศ ที่โดดเข้าไปในวงจรของเทคโนโลยีนี้ทัน”

อย่างที่บอกไว้แต่ต้นว่า อาเซียนคือหมุดหมายสำคัญอันดับแรกของประเทศไทย ดร.ปานปรีย์ จึงขอย้ำอีกครั้งว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะนำประเทศไทยเข้าสู่การเป็นผู้นำในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง ผ่านการเข้าร่วม AFTA

ในอนาคต อาเซียนจะเป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สำคัญอีกจุด และเป็น Supply Chain ของโลก ภายใต้ความร่วมมือกันอย่างแข็งแกร่งและจริงจังในปัญหาต่างๆที่เผชิญร่วมกัน เช่น มลภาวะเป็นพิษ การผนึกกำลังกันเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่สำคัญก็คือ ต้องปลอดซึ่งความขัดแย้งระหว่าง ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน

“เศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ช่วงเวลาของความเปลี่ยนแปลงซึ่งมาพร้อมความเสี่ยงนี้ World Economic Forum บัญญัติศัพท์ให้ใช้ร่วมกันว่า Polycrisis แปลว่าความเสี่ยงขนาดใหญ่ที่เดินทางมาเผชิญหน้าพร้อมกัน หรือทับซ้อนกันจนทำให้เกิดค่าครองชีพสูง เงินเฟ้อ ราคาอาหาร และพลังงาน...

รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยสูง ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างๆที่เกิดความผันผวนรุนแรง กลายเป็นความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ” ดร.ปานปรีย์กล่าว

เมื่อเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงและการพึ่งพากันในระหว่างประเทศมีความสำคัญ นโยบายต่างประเทศจึงจัดเป็นนโยบายที่สำคัญ ซึ่งนอกจากจะลดผลกระทบจากปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นให้ได้แล้ว ยังต้องส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจภายใน เพื่อรองรับผลที่จะได้รับจากการดำเนินนโยบายนั้นๆด้วย

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการให้การช่วยเหลือภาคส่งออกและการนำเข้า ตลอดจนถึงการทำให้กำลังซื้อและการอุปโภคบริโภคเติบโตขึ้นด้วย

“เราตั้งเป้าหมายให้นโยบายการต่างประเทศ ต้องเดินหน้าไปพร้อมๆกับนโยบายเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการหารายได้เข้าประเทศ เพื่อทำให้การกระจายรายได้เกิดความสมดุล ลดความเหลื่อมล้ำ และการผูกขาด เมื่อรัฐและประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินรัฐและครัวเรือนก็จะได้รับการปรับลดลงด้วย...

เพราะฉะนั้น พรรคจึงตั้งเป้าขยาย จีดีพี เศรษฐกิจประเทศไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5%”

ดร.ปานปรีย์ ตอกย้ำ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบเข้าสู่เศรษฐกิจเทคโนโลยี ดิจิทัล อย่างเต็มรูปแบบ คือ วิธีการที่เร็วที่สุดที่จะนำประเทศไทยกลับคืนเวทีโลกได้ ส่งผลให้ภาคการค้าการลงทุน ตลอดจนถึงภาคบริการด้านการท่องเที่ยว สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้พร้อมๆกับสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประเทศ และคนไทยไม่ให้ถูกหลอกลวงรายวันเช่นที่เป็นอยู่

“เราจะสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่คนไทย และทำให้คนไทยได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง สกัดกั้นการพนันที่ผิดกฎหมาย การหลอกลวงให้โอนเงินหรือปล่อยกู้ ด้วยการแก้ไขกฎหมายให้สามารถไล่ตามวงการไซเบอร์สีเทาให้ทันท่วงที”.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ