นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินว่า สถาบันการเงินเร่งดำเนินการตามแนวปฏิบัติขั้นต่ำ ที่ ธปท.ขอให้ทุกแห่งปฏิบัติตาม เพื่อดูแลการทำธุรกรรมทางการเงินตลอดเส้นทาง และเตรียมพร้อมรองรับดำเนินงานตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งดูแลลูกค้า สำหรับการป้องกันนั้น ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารรัฐได้ทยอยประกาศงดส่ง SMS อีเมล และลิงก์ขอข้อมูลส่วนตัว หรือรหัส OTP ตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.66 และจะครบทุกแห่งสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ รวมทั้งเร่งปรับปรุงระบบความปลอดภัยในแอปพลิเคชันธนาคาร ให้เสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ ขณะที่การปรับปรุงระบบให้ตรวจจับพฤติกรรมการโอนเงินที่ผิดปกติตลอด 24 ชม.นั้น คาดจะเสร็จทุกแห่งในสิ้นปีนี้
“กรณีสแกนใบหน้า ซึ่งหลายคนเป็นห่วง จะทยอยดำเนินการเพื่อให้ทั้งธนาคารพาณิชย์ และประชาชนมีเวลาปรับตัว โดยจะเริ่มจากสแกนหน้าเพื่อทำธุรกรรมการเปลี่ยนแปลงวงเงินการโอนรายวันก่อน จากนั้น จะเริ่มกับการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกินกว่า 50,000 บาทต่อรายการขึ้นไป ซึ่งส่วนนี้จะเกิดขึ้นเดือน มิ.ย.นี้เป็นต้นไป ระหว่างนี้ธนาคารจะต้องเตรียมระบบ และอัปเดตข้อมูลรูปภาพหน้าของลูกค้าก่อน”
ด้านนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมและธนาคารสมาชิก พร้อมยกระดับความปลอดภัยของภาคธนาคาร โดยร่วมมือกันงดส่ง SMS ที่แนบลิงก์ในการติดต่อลูกค้า เร่งพัฒนาระบบป้องกันการทำธุรกรรมทุจริต และนำเทคโนโลยีมาตรวจจับธุรกรรมต้องสงสัย โดยร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทุจริตในภาคธนาคาร เพื่อให้แลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชี ธุรกรรมต้องสงสัย และบัญชีม้าระหว่างธนาคาร
“ธนาคารพร้อมลงทุนเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาระบบความปลอดภัยให้สูงขึ้น และพร้อมดูแลลูกค้าแน่นอน เมื่อระบบความปลอดภัยพร้อม อยากให้ลูกค้าระมัดระวังการทำธุรกรรมทางการเงินด้วย เพื่อไม่ให้ถูกหลอกลวง ส่วนการดูแลลูกค้าที่เสียทรัพย์สิน ธนาคารจะดูแลอย่างเต็มที่เป็นรายๆไป ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และหากพบว่าเป็นความบกพร่องของธนาคาร หรือธนาคารมีส่วนบกพร่อง จะรับผิดชอบลูกค้าแน่นอน”
นายทวนทอง ตรีนุภาพ ผู้แทนสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าของสถาบันการเงินรัฐส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง (เด็ก คนสูงอายุ ลูกค้ารายย่อย) ซึ่งมีความเสี่ยงถูกหลอกลวง สถาบันการเงินรัฐจึงพร้อมลงทุนระบบความปลอดภัย ดำเนินการตามแนวทางการป้องกันภัยทุจริตทางการเงิน รวมทั้งให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะออกประกาศเตือนการไม่ส่งลิงก์ต่างๆ ให้ลูกค้าและประชาชน และเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงิน.