ส.อ.ท.หวังไทยยึดฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชี้อินโดนีเซียยังเป็นต่อ แนะเร่งหาจุดเด่นเพิ่ม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ส.อ.ท.หวังไทยยึดฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชี้อินโดนีเซียยังเป็นต่อ แนะเร่งหาจุดเด่นเพิ่ม

Date Time: 3 มี.ค. 2566 13:19 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • สภาอุตสาหกรรม ชี้ ไทยต้องเร่งยึดเป็นฐานผลิตรถยนต์ EV ชี้อินโดนีเซีย คือ คู่แข่งสำคัญ จากแหล่งแร่ผลิตแบตเตอรี่ที่มากกว่า ชี้ไทยมีฐานการผลิตที่แข็งแกร่งแต่ต้องหาจุดเด่นเพิ่ม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยต้องชิงความได้เปรียบในการเป็นผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV เพื่อเป็นผู้ส่งออกที่สำคัญของภูมิภาค ซึ่งไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์แบบสันดาปภายในและมีซัพพลายเชนท์ที่พร้อมกว่า ทั้งนี้ปัจจุบันมีอินโดนีเซียเป็นคู่แข่งที่สำคัญ


“ไทยต้องชิงความได้เปรียบในการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคู่แข่งที่สำคัญในตอนนี้ คือ อินโดนีเซียที่มีความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ พวกเขากำลังนำเรา 1 ช่วงตัว เราเป็นรองเขาในจุดนี้แต่เราก็มีความแข็งแกร่งด้วยอื่นที่แข่งขันได้”


ทั้งนี้อินโดนีเซียมีความได้เปรียบในด้านแร่ธาตุที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ช่วยดึงดูดให้โรงงานแบตเตอรี่ขนาดใหญ่เข้าไปตั้งถิ่นฐานที่นั้นได้ ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้แบตเตอรี่เป็นต้นทุนในการผลิตไม่น้อยกว่า 40% ส่วนประเทศไทยเรามีความเข้มแข็งในด้านการเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปมายาวนาน และเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่อันดับที่ 11 ของโลก มีการจ้างการงานมากกว่า 7 แสนคน ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐมีการสนับสนุนการใช้รถยนต์ EV ด้วยการลดภาษีสรรพสามิต และ ให้เงินอุดหนุนอีก 70,000–150,000 บาทต่อคัน สร้างความคึกคักให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และช่วยดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง BYD ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเราต้องหาจุดเด่นเพิ่มเติมเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาเพิ่มขึ้น


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินทิศทางการแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยมองว่า สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือ BEV ในไทยในปีนี้อาจขึ้นไปแตะ 5 หมื่นคัน เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดถึง 271.6% จากปี 2565 แม้ยังมีปัจจัยกดดันอยู่จากเรื่องระบบ Ecosystem ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหลังมีการเคลมปัญหาชิ้นส่วนและการใช้งานบ่อยขึ้น รวมถึงประเด็นการรออะไหล่ที่ยาวนานเนื่องจากยังไม่มีฐานผลิตในไทย ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว


แรงหนุนหลัก มาจากทั้งปัจจัยด้านอุปสงค์จากความต้องการรถยนต์ BEV ที่ยังอยู่ในระดับสูงของผู้บริโภค อันเป็นผลของ (1) มาตรการกระตุ้นด้านราคาที่ถูกจุดจากทางภาครัฐและ (2) การเร่งกระจายจุดชาร์จรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งาน


ประกอบกับ ปัจจัยด้านอุปทาน โดยมีสัญญาณบวกจาก (1) สถานการณ์การขาดแคลนชิปในการผลิตรถยนต์ที่เริ่มคลี่คลายขึ้นตามลำดับทำให้โอกาสส่งมอบรถยนต์ทำได้ดีขึ้น (2) ค่ายรถต่างส่งสัญญาณบุกตลาดมากขึ้นในไทย ไม่ว่าจะจากจีน ตะวันตก ญี่ปุ่น หรือแม้แต่เกาหลีใต้ โดยเตรียมเปิดตัวรถยนต์ BEV รุ่นใหม่ในไทยปีนี้หลายรุ่นหลาย Segment ตั้งแต่รถยนต์นั่งไปจนถึงรถปิกอัพ ซึ่งจะทำให้มีตัวเลือกรถยนต์ BEV มากขึ้นในตลาด (3) ยอดขายรถยนต์ BEV ในจีนตกลงมาก ทำให้จีนมีโอกาสส่งออกมาทำตลาดในไทยแทนมากขึ้น หลังรัฐบาลกลางจีนไม่ต่ออายุมาตรการให้เงินอุดหนุนในการซื้อรถยนต์ BEV ทั้งนี้ ปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ในด้านหนึ่ง ช่วยสนับสนุนให้ผู้ซื้อรถ BEV ในไทยมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงสภาวะการแข่งขันในตลาดรถ BEV ที่คงจะรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การแข่งขันของตลาดรถยนต์ BEV ในไทย มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นอีก จากจำนวนผู้เล่นที่มีแนวโน้มหนาตามากขึ้น เนื่องจากคาดว่าจะยังมีค่ายรถในจีนอีกหลายแบรนด์ที่อาจมีแผนรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเพื่อหาโอกาสทางธุรกิจ ขณะเดียวกันก็เพื่อบริหารจัดการอัตรากำลังการผลิตส่วนเกินในจีนด้วย และเมื่อผนวกกับการที่ค่ายรถสหรัฐฯ ที่ใช้สิทธิ FTA นำเข้าจากจีนมาไทยและกำลังเตรียมจะเข้ามาลุยตลาดรถยนต์ BEV ในรุ่นตลาด Mass แล้ว ก็ยังมีค่ายรถญี่ปุ่นที่ถึงแม้จะเข้ามาลุยตลาดช้าแต่ก็มีพื้นฐานเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือในกลุ่มผู้บริโภคไทยมานาน ตลอดจนค่ายเกาหลีและตะวันตกที่ก็เป็นที่รู้จักในตลาดรถยนต์ BEV โลกที่กำลังจะตามเข้ามาทำตลาดด้วย


อย่างไรก็ดี หากประเมินจากสภาพเศรษฐกิจที่กำลังซื้อของผู้บริโภคส่วนใหญ่ในประเทศยังมีความไม่แน่นอนแล้ว ทำให้รถยนต์ BEV ค่ายจีนที่เน้นจับตลาด Mass ด้วยระดับราคาต่ำกว่าค่ายรถสัญชาติอื่นชัดเจน และปัจจุบันยังสามารถส่งมอบรถยนต์ BEV ถึงมือลูกค้าได้เร็วขึ้นกว่าอดีต น่าจะส่งผลให้รถยนต์ BEV ของค่ายจีนในไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะนี้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าน่าจะมีโอกาสที่สัดส่วนยอดขายรถยนต์ BEV ของค่ายจีนในปี 2566 อาจเพิ่มขึ้นเป็น 85% ต่อยอดขาย BEV รวม จากปี 2565 ที่สัดส่วนอยู่ที่ 78%


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ