เสี่ยงเสียค่าโง่สูง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เสี่ยงเสียค่าโง่สูง

Date Time: 18 ก.พ. 2566 06:05 น.

Summary

  • โครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท เป็นโครงการสำคัญในเขต อีอีซี ยังยึกยัก อยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้


โครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท เป็นโครงการสำคัญในเขต อีอีซี ยังยึกยัก อยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเจ้าของโครงการคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย กับเอกชนที่ได้รับสัมปทานคือ บริษัทเอเชีย เอราวัน อันที่จริงโครงการนี้ประมูลกันไปแล้ว ระหว่างการประมูลก็มีเรื่องที่ไม่ค่อยชอบมาพากล ระหว่างราคากลางกับราคาประมูลที่ห่างกันแค่เส้นยาแดงผ่าแปด

ความล่าช้าของโครงการนี้ จากการต่อรองในการแก้ไขสัญญากับภาครัฐ โดยภาคเอกชนอ้างว่าได้รับผลกระทบเกรงว่าจะขาดทุน ทั้งที่ประมูลกันเรียบร้อยไปแล้ว เจ้าของโครงการเกิดใจดีเสนอรัฐให้ยอมแก้ไขสัญญาเสียด้วย ทั้งที่ผลกระทบตามมามากมายทั้งการขยายและการลงทุนของทั้ง 3 สนามบิน

เรื่องนี้ คณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อธิบายว่า โครงการนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญา ทั้ง รฟท. สกพอ. และเอกชนร่วมพิจารณาผ่านความเห็นของคณะกรรมการกำกับสัญญา คณะกรรมการรถไฟ คณะทำงานกลั่นกรอง ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและ รมว.พลังงาน เป็นประธาน

ยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาทำอย่างเป็นธรรม โดยไม่มีใครเสียประโยชน์ อ้างสถานการณ์โควิด ทำให้เกิดผลกระทบกับการลงนามสัญญาและมีความขัดแย้งจาก สงครามรัสเซีย–ยูเครน ตามมา ทำให้เศรษฐกิจแย่ลง และกระทบกับการเตรียมเริ่มก่อสร้างที่จะต้องใช้เงินทุนกว่า 2 แสนล้าน ทำให้เอกชนคู่สัญญาไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งต่างกับสัญญาร่วมทุนอื่นในอีอีซี

มีการปรับสัญญาให้มีการจ่ายเงินโครงการในส่วนของค่างานโยธาให้กับเอกชนเร็วขึ้น จากที่ต้องจ่ายในปีที่ 7 มาเป็นจ่ายในปีที่ 2 โดยอ้างว่าทำให้รัฐประหยัดงบประมาณรวม 26,493 ล้านบาทเพราะเอกชนจะเข้ามารับหน้าที่ก่อสร้างทางวิ่งให้โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ ดอนเมืองแทน รฟม.

ฟังดูเหมือนจะดูดี แต่การแก้ไขสัญญาหลังสัมปทานในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้เอกชนขนาดนี้ดูทะแม่งชอบกล ภาครัฐ ชี้แจงแต่ในส่วนที่เป็นประโยชน์ แต่ในส่วนของ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการล่าช้าของโครงการ รวมทั้งการรับความเสี่ยงแทนภาคเอกชนไม่ได้มีการชี้แจงรายละเอียดในเรื่องนี้

เรื่องของ แผนฟื้นฟู ขสมก. ที่ยังติดหล่มจมปลัก 4 ปีที่ผ่านมา ฟอกหนี้เพิ่มกว่า 1.32 แสนล้านบาท ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการทบทวนแผนฟื้นฟูกิจการฉบับปรับปรุงปี 2566 ต้องกู้เงินเสริมสภาพคล่องอีก 7,516.909 ล้านบาท

ภายใต้การกำกับดูแลของพรรคภูมิใจไทยและ รมว.คมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ผลงานที่ผ่านมาคงไม่ต้องอธิบายให้เมื่อยตุ้ม ถนน 7 ชั่วโคตรก็ยังเป็นถนน 7 ชั่วโคตรตลอดไป เปิดสัมปทานโครงการใหม่เป็นดอกเห็ด.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ