นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์การทำงานของ มิจฉาชีพหลอกลวงเหยื่อให้รักผ่านสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดียมีความหลากหลายมาก เช่น ข้อความ Messenger ขอเป็นเพื่อนและขอเป็นคนรัก เชิญชวนให้ร่วมลงทุนเพื่อวางแผนอนาคตร่วมกัน ซึ่งมิจฉาชีพอาจจะหลอกให้โอนเงินไปยังปลายทางและหลอกว่าเป็นเงินเก็บร่วมกัน ขอให้อย่าหลงเชื่อ เนื่องจากจะทำให้เสียทรัพย์สิน รวมทั้งมีกรณีมิจฉาชีพแปลงตัวเป็นร้านขายดอกไม้ออนไลน์ หลอกขายดอกไม้เทศกาลวาเลนไทน์ด้วย “ส่วนคนที่เข้าไปหาเพื่อนคุยหรือมองหาคนรักผ่านแอปพลิเคชันจับคู่ ขอให้ใช้อย่างระมัดระวังเพื่อจะไม่ตกเป็นเหยื่อของการเข้าถึงแอปพลิเคชันปลอม ซึ่งหากพลาดพลั้งอาจจะถูกมิจฉาชีพขโมยข้อมูลส่วนตัว ชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัญชีธนาคารไปขายต่อยังเว็บไซต์ผิดกฎหมาย หรือถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางที่ผิด”
โดยมีตั้งแต่หลอกให้รักแล้วชวนลงทุน (Hybrid scam), หลอกให้รักแล้วกดลิงก์/ดาวน์โหลดแอปรีโมต (Remote access scam) ควบคุมสมาร์ทโฟนและทำการดูดเงินในบัญชี, หลอกให้รักแล้วแบล็คเมล์ (Sextortion) ขู่กรรโชกทางเพศ, มิจฉาชีพที่เป็นชาวต่างชาติจะทำทีมาจีบและให้ความหวังว่าอยากจะมาแต่งงานที่เมืองไทย และส่งทรัพย์สินให้ แต่ต้องชำระเงินค่าภาษีก่อน และขอให้ช่วยชำระภาษีให้ก่อน, มิจฉาชีพแสดงตัวว่าได้รับมรดกเป็นเงินมหาศาล แต่ต้องชำระภาษีมรดก ขอให้ช่วยชำระภาษี,หลอกว่าป่วยหนัก แต่ประกันยังเบิกจ่ายไม่ได้, หลอกส่งของรางวัลราคาแพงมาให้ แต่ติดอยู่ที่ด่านตรวจ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมก่อน และเป็นนักธุรกิจชาวต่างชาติที่จะมาลงทุน แต่ต้องการให้ร่วมทุนด้วย.