กบร. เร่งจัดระเบียบสลอตการบินฤดูร้อน หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติพาเหรดเข้าไทยและทำความเข้าใจพร้อมไฟเขียวแผนธุรกิจ “ไทยไลอ้อน-บางกอกแอร์-การบินไทย” ส่วน กพท.ดิ้นหาทางออกต่อไลเซนส์นักบินไทยกว่า 1 หมื่นคน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ว่า ที่ประชุมมีมติให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เร่งจัดสรรตารางเวลาการบิน (Slot Allocation) ประจำฤดูร้อนโดยเร็ว เพราะตารางเวลาการบินประจำฤดูหนาวจะสิ้นสุดวันที่ 26 มี.ค.66 และตารางการบินฤดูร้อน จะเริ่มวันที่ 27 มี.ค.66 เป็นต้นไป โดยต้องใช้สนามบินให้เกิดประโยชน์สูงสุดและให้นำเอาประวัติการใช้ Slot ของแต่ละสายการบินมาพิจารณา รวมถึงพิจารณาความต้องการของเที่ยวบินจากจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วย โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะประชุมวันที่ 17 ก.พ.นี้ เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดร่วมกัน รวมทั้งเสนอทางเลือกต่างๆ และสร้างความเข้าใจกับสายการบินจากจีนในประเด็นข้อขัดข้องต่างๆด้วย
นอกจากนี้ กบร.ยังมีมติให้ยกระดับมาตรฐานการบินของประเทศ โดยให้ กพท.เร่งประสานหน่วยงานภาคการบินที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชน เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่ยังมีอยู่ให้เรียบร้อย ตั้งเป้าหมายขอรับการตรวจสอบในโปรแกรม USOAP จากองค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) ในปีนี้ และหวังผลการประเมินเกิน 90% ซึ่งจะทำให้ไทยมีมาตรฐานเทียบเคียงประเทศชั้นนำของโลก ช่วยสร้างความเชื่อมั่นของผู้โดยสาร กระตุ้นการเติบโตของกิจการการบินของไทยที่ตั้งเป้าหมายติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ขณะเดียวกัน ยังรับทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนที่เห็นชอบแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนธุรกิจของ 3 สายการบิน คือ ไทยไลอ้อน บางกอกแอร์ และการบินไทย
ด้านนายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ กพท.กล่าวถึงการออกใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ (ไลเซนส์) ของนักบินไทยว่า ช่วงโควิดสายการบิน ได้รับผลกระทบ และปิดตัว ส่งผลให้นักบินในระบบการบินกว่า 10,000 คนได้รับผลกระทบและตกงาน แม้ขณะนี้สายการบินกลับมาเปิดบริการแล้ว แต่นักบินที่หยุดบินนานๆ ไม่สามารถกลับมาบินใหม่ได้เพราะไม่มีชั่วโมงบิน และใบอนุญาตนักบินหมดอายุ
“กพท. พร้อมหาแนวทางให้นักบินกลับเข้าสู่ระบบ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน ICAO ด้วย ซึ่งในช่วงโควิด ICAO ผ่อนผันให้นักบินที่ไม่มีชั่วโมงการบินยังคงสภาพใบรับรองนักบินจากเดิม 90 วัน เป็น 180 วัน แต่เมื่อโควิดคลี่คลายได้ยกเลิกการผ่อนผันนี้ แต่ตามกฎหมายไทยยังเปิดโอกาสให้นักบินที่ไม่มีชั่วโมงทำการบินจริง หรือไม่ได้ทำการบินคู่กับครูการบิน ยังฝึกบินในเครื่องบินจำลอง (ซีมูเลเตอร์) ได้ แต่มีค่าใช้จ่ายสูง และโรงเรียนการบินจะกลับมาเปิดสอบได้ก็ต้นเดือน เม.ย.นี้ ดังนั้น กพท.จึงได้หาทางแก้ปัญหานี้แล้ว”
ด้านนายกลศ เสนารักษ์ ผู้จัดการฝ่าย มาตรฐานผู้ประจำหน้าที่ กพท.กล่าวว่า กรณีที่นักบินจะได้ไลเซนส์มี 2 ทางออก คือ 1.นักบินที่เคยมีใบอนุญาต หากจะต่อไลเซนส์ สามารถฝึกบินซีมูเลเตอร์กับอากาศยานขนาดเล็กได้ ขณะนี้ โรงเรียนการบินหัวหินพร้อมรองรับอาจมีค่าใช้จ่ายครั้งละหลักหมื่นบาท และ 2.หากต้องการไลเซนส์ขับเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ นักบินต้องฝึกซีมูเลเตอร์เครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ตามประเภทของฝูงบินที่จะทำงาน เพื่อรักษามาตรฐานความปลอดภัยตามเกณฑ์สากล แต่อาจเสียค่าใช้จ่ายหลักแสนบาท
“เข้าใจความเดือดร้อนของนักบินพาณิชย์ ที่ต้องการกลับมาเข้าสู่อาชีพด้วยการยื่นขอต่อไลเซนส์ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งที่ยังไม่มีรายได้ แต่ก็ยากจะหลีกเลี่ยง เพราะก่อนได้รับอนุมัติต่อไลเซนส์ใหม่ กพท.ก็ยึดระเบียบตามมาตรฐานสากล อีกทั้ง กพท.ทำโครงการความร่วมมือการสร้างมาตรฐานอาชีพนักบินร่วมกับสิงคโปร์ และเวียดนาม และจะทยอยทำกับหลายประเทศ จึงต้องบังคับใช้มาตรฐานอาชีพนักบินเหมือนนานาชาติ เพื่อจะได้นำไลเซนส์ไปสมัครงานกับสายการบินอื่นๆได้”.