ตำหนิรัฐ-ทอท.-บินไทย ต้นเหตุทำไทยเสียโอกาสท่องเที่ยวมหาศาล

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ตำหนิรัฐ-ทอท.-บินไทย ต้นเหตุทำไทยเสียโอกาสท่องเที่ยวมหาศาล

Date Time: 9 ก.พ. 2566 07:37 น.

Summary

  • ได้ฤกษ์ดีวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา วันแรกที่ทางการจีนอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์ได้ใน 20 ประเทศ ซึ่งไทยเราก็อยู่ในรายชื่อประเทศเหล่านั้นด้วย แม้นักท่องเที่ยวจีนจะค่อยๆทยอยมา

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ได้ฤกษ์ดีวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา วันแรกที่ทางการจีนอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์ได้ใน 20 ประเทศ ซึ่งไทยเราก็อยู่ในรายชื่อประเทศเหล่านั้นด้วย แม้นักท่องเที่ยวจีนจะค่อยๆทยอยมา แต่เชื่อได้ว่าในไม่ช้าปริมาณนักท่องเที่ยวจากจีนที่มาในรูปแบบหมู่คณะจะกลับมาคึกคักเหมือนก่อนแน่นอน

แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ช่วยผลักดันตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ของประเทศไทยมากมายมหาศาล แถมยังเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมระยะสั้นที่ได้ผลชะงัดมาตลอด ดังนั้นตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เมื่อมาตรการโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายและมีการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้ เราจะเห็นการประโคมข่าวเชิงบวกว่านักท่องเที่ยวเริ่มทยอยเข้าไทย มีการตั้งแถวต้อนรับนักท่องเที่ยวที่สนามบินด้วยผู้ใหญ่ในรัฐบาลเอง พร้อมประกาศถึงความมั่นใจว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาบูมอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การพูดถึงแต่เรื่องดีๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเช่นว่านี้เป็นเสมือนสิ่งฉาบเคลือบความจริงบางเรื่องอันยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก และไม่มีทีท่าว่าจะได้รับความสนใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เรื่องแรกก็คือเรื่องของจำนวนเที่ยวบินที่ยังมีน้อยเกินไปที่จะรองรับทั้งผู้โดยสารขาเข้าและขาออก เรื่องนี้ได้เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดหลายครั้งแล้ว เพราะเราขาดจำนวนเที่ยวบินที่ยังไม่สามารถบริหารจัดการให้สอดคล้องกับการดีดตัวของปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

ปัญหานี้ชัดเจน ถ้าไม่มีเครื่องบินเพียงพอที่จะเดินทางไปยังจุดหมายเพื่อรับนักท่องเที่ยวเข้ามา และส่งนักท่องเที่ยวที่มาแล้วกลับประเทศเขา ข่าวที่น่าตกใจก็ขณะนี้ สายการบินแห่งชาติของเรา การบินไทย กลับมีเครื่องบินประจำการอยู่แค่ไม่กี่สิบลำ จากเดิมที่มีเกือบร้อย บ้างก็โดนขายปลดภาระหนี้ ไม่ก็ปลดระวางจอดอยู่เฉยๆ ที่สนามบินเพื่อรอขึ้นทะเบียนขาย ไม่ทราบว่าเสียโอกาสไปเท่าไหร่ในการขึ้นบินเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย

เรื่องเที่ยวบินที่ไม่พอก็ช้ำใจมากแล้ว เจอเด้งที่สองก็คือปัญหาการบริหารจัดการสัมภาระผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้ว่าจ้างการบินไทยให้เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ แต่เกิดปัญหาแรงงานขาดแคลน มีกำลังคนไม่พอ ไม่สามารถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ การขนสัมภาระขึ้นและลงจึงกินเวลานานมาก จินตนาการถึงประสบการณ์แรกของนักท่องเที่ยวที่จะเจอกับการบริการที่ย่ำแย่ของด่านหน้าทำให้ยิ่งน่าวิตก ถ้าตรงนี้ยังแก้ไม่ได้จะเปิดเที่ยวบินให้มากขึ้นก็ยิ่งสร้างปัญหากลายเป็นวงจรที่ต้องแก้วนไปทั้งสองเรื่องพร้อมๆกัน

ดูให้ดีๆ ปัญหาสองอย่างนี้ไม่ได้ต้องการทักษะ หรือความสามารถพิเศษในการวิเคราะห์ และแก้ปัญหาเลย เพียงแต่เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจัง และถูกเพิกเฉยจากผู้ที่เกี่ยวข้อง รัฐบาล รวมถึงท่านนายกฯด้วย ที่จะต้องลงมาล้วงลูกในเรื่องพวกนี้ ไม่ใช่หลับหูหลับตาปล่อยไปเฉยๆ

“ดูแล้วก็น่าสงสารประเทศไทย ทั้งๆที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้หลักและรายได้ใหญ่ของประเทศที่จะช่วยการฟื้นตัวในระยะสั้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีนัยต่อธุรกิจอื่นๆที่จะได้ประโยชน์ตามน้ำมาอีกมากมายจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เรากลับไม่สามารถฉกฉวยโอกาสจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการบริหารงานอันไร้สมรรถภาพของผู้รับผิดชอบและผู้ใหญ่ในบ้านเมือง” นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 กล่าว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ