ดร.นครินทร์ อมเรศ ธนาคารไทยพาณิชย์
กงซีฟาไฉ (恭喜发财) ที่แปลว่า ขอให้ร่ำรวย เป็นประโยคกล่าวปิดการแถลงผลประกอบการประจำปี 2565 ของธนาคารแห่งหนึ่ง ก่อนเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา สะท้อนบรรยากาศเชิงบวกของภาพรวมผลประกอบการในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารในปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับประโยคเปิดในการแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนธันวาคม ปี 2565 ของแบงก์ชาติ ที่ว่า ในเดือนธันวาคม 2565 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ภาพทั้งหมดมีจุดร่วมกันที่การฟื้นตัวเต็มที่ของเศรษฐกิจไทย จึงขอทบทวนว่าจากจุดนี้เราจะไปต่อยังที่ใด
ภาพเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมามีนัยต่อทิศทางในระยะต่อไปค่อนข้างมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจในประเทศเดินหน้าเต็มที่ พร้อมๆกับที่อัตราเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ส่วนหนึ่งจากการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ซึ่งเป็นไปอย่างระมัดระวังไม่ให้กระทบต่อ momentum การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางความกังวลต่อคุณภาพหนี้ที่อาจจะด้อยลงได้เมื่อต้นทุนทางการเงินปรับสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางเช่นครัวเรือนรายได้น้อย หรือ SME ที่มีหนี้อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วพอจะให้ภาพด้านบวกว่าคุณภาพหนี้ไม่ได้ปรับแย่ลงตามที่กังวล อันเป็นอานิสงส์จากการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องควบคู่กับการมีมาตรการเฉพาะจุดและมีแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง ขณะที่ ระบบธนาคารยังมีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง
เศรษฐกิจไทยที่กำลังเติบโตท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะยังมีความไม่แน่นอนอยู่อีกมาก จึงขอหยิบยกเคล็ดลับสำคัญที่ McKinsey ถอดบทเรียนจากผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำของโลกกว่า 200 ราย ที่แลกเปลี่ยนมุมมองถึง corporate resilience หรือ ความยืดหยุ่นขององค์กร โดยนิยามคำว่า resilience หรือยืดหยุ่นว่ามีองค์ประกอบสามประการ คือ หลังล้มลงเพราะวิกฤติ เช่น โควิด-19 แล้วไม่เพียงที่จะ ลุกได้ไว ฟื้นตัวรวดเร็ว แต่จะต้องสามารถ เดินหน้าไปได้ไกลกว่าเดิม และพร้อมที่จะ ล่าฝันสู่ความสำเร็จไปข้างหน้า
ตัวอย่างวิธีในการสร้าง resilience ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมาและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน คือ ปรับโครงสร้างงบดุลหาเงินทุนใหม่ สร้างสินทรัพย์เพิ่มให้ผู้ประกอบธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำในยุโรปได้ถึง 3 พันล้านยูโร, กำหนดโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ ลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ suppliers มีความเสี่ยงสูง 40% สำหรับผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก
ลดปริมาณคาร์บอนของธุรกิจหลัก นำไปสู่การปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการครั้งใหญ่ของบริษัทเหมืองแร่ชั้นนำของโลก,ลดความเสี่ยงและเสริมความปลอดภัยข้อมูล ทำให้ผู้นำการผลิตสินค้าเกษตรในตลาดโลกเปลี่ยนผ่านด้าน advanced analytics ได้สำเร็จ, สร้างฉากทัศน์ของสถานการณ์ในอนาคตอย่างเป็นระบบ ทำให้บริษัทยานยนต์ชั้นนำตัดสินใจกระจายความเสี่ยงของฐานการผลิตได้ถูกต้อง
รับมืออนาคตที่คาดไว้ ช่วยให้ธุรกิจสาธารณูปโภคที่มีต้นทุนต่อปีถึง 5 พันล้านยูโร กำหนดกลยุทธ์จัดการกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้, พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสเติบโต เปิดให้ธุรกิจเวชภัณฑ์ขนาดใหญ่จับมือคู่แข่ง start-up พัฒนาระบบส่งยาไปยังบ้านผู้ป่วยโรคหายากได้สำเร็จ
น่าสังเกตว่าธุรกิจที่ประสบความสำเร็จต้องกล้าเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง และเลือกกลยุทธ์ในการตัดสินใจบนหลักฐานเชิงประจักษ์ จึงหวังว่าภาคธุรกิจไทยจะเตรียมความพร้อมและสามารถวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ลุกไว เดินหน้า ล่าฝัน ได้สำเร็จ.