ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทยแบงก์ชาติ สำนักงาน ก.ล.ต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมระยะแรก โดยเปิดรับฟังความเห็นต่อมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งเดือนตั้งแต่ช่วยปลายเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอพาท่านผู้อ่านทำความรู้จักกับมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมนี้กันค่ะ
ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างตระหนักและให้ความสำคัญ ซึ่งภาคการเงินเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้ภาคส่วนต่างๆของระบบเศรษฐกิจปรับตัวเพื่อรองรับกับกระแสความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้ ผ่านหน้าที่การเป็นตัวกลางจัดสรรเงินทุนให้กับระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันแต่ละภาคส่วนยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน ทำให้การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอาจขับเคลื่อนได้ไม่เต็มที่ การจัดสรรเงินทุนยังทำได้ไม่ตรงจุด ซึ่งอาจนำไปสู่การกล่าวอ้างเกินจริงว่ามีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว หรือการจัดสรรเงินทุนให้ภาคธุรกิจที่ต้องการปรับตัวโดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านยังไม่เพียงพอ ดังนั้น จำเป็นต้องมีมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่เป็นนิยามเดียวกัน เพื่อให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคการเงิน มีความเข้าใจที่ตรงกันและสามารถใช้อ้างอิงได้
มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมนี้ จะเป็นมาตรฐานกลางที่ใช้จัดกลุ่มกิจกรรมเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย โดยจะกำหนดคำนิยาม คำอธิบาย เงื่อนไข และตัวชี้วัดตามรายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นคู่มือให้ทุกภาคส่วนเข้าใจและประเมินได้ตรงกันว่า กิจกรรมนั้นมีการดำเนินการที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมหรือไม่และอยู่ในระดับใด โดยการพัฒนามาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมนี้ได้คำนึงถึงบริบทของไทยเอง ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับมาตรฐานต่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาคอย่างอาเซียนและมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น มาตรฐานของสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ ในการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะคำนึงถึงทั้งวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและภาคเศรษฐกิจที่จะดำเนินการ สำหรับมิติแรก ในระยะแรกจะเริ่มจากวัตถุประสงค์เรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่กิจกรรมที่เกิดขึ้นจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆด้วย เช่น การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและปรับตัวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ ส่วนมิติด้านภาคเศรษฐกิจในระยะแรก จะครอบคลุมภาคพลังงานและภาคการขนส่งก่อน เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจหลักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูงและต้องปรับตัวมาก และมีแผนจะขยายการจัดทำไปยังภาคการผลิตและภาคเกษตรต่อไป
สำหรับหน้าตาของการจัดกลุ่มกิจกรรมจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับคล้ายกับระบบสัญญาณไฟจราจร ที่มีสีเขียว สีเหลือง และสีแดง โดยสีเขียวหมายถึง กลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิใกล้เคียงหรือเท่ากับศูนย์ในปัจจุบัน สีเหลืองหมายถึงกลุ่มกิจกรรมที่อยู่ระหว่างการ ปรับตัว โดยยังไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิใกล้เคียงหรือเท่ากับศูนย์แต่สามารถลดปัญหาได้บ้างและยังปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นได้ ขณะที่สีแดงหมายถึง กลุ่มกิจกรรมที่ไม่สามารถประเมินได้ว่าเป็นมิตรต่อการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิ และไม่เข้าเงื่อนไขและตัวชี้วัดสำหรับกิจกรรมสีเขียวหรือสีเหลือง
การนำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมนี้ไปใช้จะเป็นไปตามความ สมัครใจ ซึ่งภาคส่วนต่างๆสามารถนำไปใช้อ้างอิงทั้งในการกำหนดนโยบาย วางแผนงาน รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างมีมาตรฐานและสอดคล้องกัน ซึ่งจะช่วยให้แต่ละภาคส่วนสามารถประเมินสถานะการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและวางแผนรองรับการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สอดคล้องกับบริบทของไทยได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์ค่ะ