นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้ติดตามราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในตลาดโลกที่ยังมีความผันผวนอย่างใกล้ชิด โดยสัปดาห์นี้ราคานำเข้าอยู่ที่ 698 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เทียบได้กับราคาที่ต้องขายปลีกจริงในประเทศที่ 450 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) แต่ กบง.ได้กำหนดราคาขายปลีกอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กก. ส่งผลต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันในส่วนของบัญชีแอลพีจี ติดลบ 813 ล้านบาทต่อเดือน และล่าสุดฐานะกองทุนบัญชีแอลพีจีติดลบ 44,794 ล้านบาท ซึ่งจะเข้าใกล้กรอบวงเงินกองทุนน้ำมันในส่วนของบัญชีแอลพีจีที่ให้ติดลบได้ไม่เกิน 48,000 ล้านบาท
ดังนั้น ที่ประชุม กบง.จึงได้ทบทวนแนวทางการกำหนดราคาแอลพีจีเพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และต้องคำนึงถึงสภาพคล่องของกองทุนน้ำมัน จึงได้มีมติดังนี้ 1.เห็นชอบให้คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น แอลพีจีที่ 19.9833 บาทต่อ กก. (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีกแอลพีจีอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง (15 กก.) ต่อไปอีก 1 เดือน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1-28 ก.พ.นี้, 2.ปรับราคาขายปลีกเพิ่มอีก 15 บาทต่อถัง 15 กก.ในเดือน มี.ค. โดยจะปรับเป็นราคาขายปลีก 423 บาทต่อถัง 15 กก. วันที่ 1-31 มี.ค.นี้
ทั้งนี้ ที่ประชุม กบง.ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมัน (กบน.) เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาแอลพีจีต่อไป ขณะเดียวกัน กบง.ได้พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าประจำเดือน ม.ค.-เม.ย. ซึ่งมีค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เรียกเก็บที่ 93.43 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยกลุ่มเปราะบางที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน.