บรรยากาศการเลือกตั้ง กำลังใกล้มาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ พรรคการเมืองต่างๆเริ่มเปิดตัวนโยบายหลัก โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ ไม่นานมานี้ “พรรคชาติพัฒนากล้า” ได้ออกมาเปิดนโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์เครดิตบูโร ที่ทำให้สถาบันการเงินอึดอัด หาวเรอไปตามๆกันในโอกาสนี้ “กรณ์ จาติกวณิช” ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า จึงได้มาขยายความเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวพร้อมกับแนวคิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายๆประเด็น
นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เปิดเผยว่า การควบรวมของพรรคกล้าและพรรคชาติพัฒนา พร้อมกับชื่อใหม่ พรรคชาติพัฒนากล้าที่เกิดขึ้นก่อนพรรคการเมืองอื่นๆได้ทำให้เตรียมตัว จัดทำนโยบายก่อนพรรคอื่น โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจที่ถือว่าสะท้อนตัวตนของพรรคที่ต้องการให้การบริหารนโยบายเศรษฐกิจเข้ามาแก้ปัญหา ปากท้องของประชาชน โดยมองทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการมุ่งเน้นรื้อโครงสร้างในเรื่องต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นตอ
“ผมได้เปิดนโยบายเรื่องการยกเลิกแบล็กลิสต์เครดิตบูโร ขอย้ำก่อนว่าไม่ใช่ยกเลิกเครดิตบูโร ซึ่งผมมองว่ามีความจำเป็น และที่เสนอคือ การยกเลิกแบล็กลิสต์ เพราะจริงๆในกฎหมายห้ามไม่ให้มีแบล็กลิสต์ แต่ในทางปฏิบัติสถาบันการเงินทุกแห่งมีระบบแบล็กลิสต์ ที่ไม่ปล่อยกู้ให้คนเหล่านั้น ซึ่งปัจจุบันมี 5-6 ล้านรายที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้แม้จะทำผิดแค่ครั้งเดียว”
การดำเนินการเรื่องนี้ต้องทำควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎหมายเครดิตบูโร หรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลเครดิต ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับผู้ขอกู้เงินในปัจจุบันเข้าไปด้วย เช่น ในปัจจุบันคนคนนั้นทำงานอะไร มีรายได้เท่าใด และมีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ มีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างไร เพื่อให้มีข้อมูลพิจารณาสินเชื่อในแต่ละช่วงเวลา ไม่ใช่ดูว่าเคยเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลมาแล้วก็ปฏิเสธการปล่อยกู้ไปเลย
ฉะนั้น ข้อมูลของประชาชนที่อยู่ในหน่วยงานต่างๆของภาครัฐ ต้องเป็นข้อมูลที่เชื่อมโยงส่งต่อได้ แต่ก็ต้องมีกฎหมายคุ้มครองการเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐ โดยข้อมูลของประชาชนถือว่าเป็นทรัพย์สินของประชาชน หากภาครัฐเข้ามาดูข้อมูลจะต้องมีการแจ้งเตือนมาที่ประชาชนด้วย ซึ่งแนวทางนี้ในต่างประเทศก็มีการดำเนินการ โดยการเปิดเผยข้อมูลจะต้องให้ประชาชนเจ้าของข้อมูลอนุญาตก่อน
ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอนโยบายในการปรับโครงสร้างภาคการเงิน เพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน ภายใต้เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไปมาก เช่นที่ในสิงคโปร์ ฮ่องกง มีการออกใบอนุญาตธนาคารรูปแบบดิจิทัล (Digital Bank) ซึ่งตั้งแต่จำความได้ ประเทศไทยไม่เคยมีการออกใบอนุญาตธนาคารเพิ่มขึ้นเลย
“การมีธนาคารดิจิทัล ไม่จำเป็นต้องมีสาขา ทำให้ลดต้นทุนการบริหารในส่วนนี้ลง จะสามารถลดส่วนต่างระหว่างเงินฝากและเงินกู้ลงได้ และสามารถจ่ายผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยได้มากกว่า ขณะที่การปล่อยกู้สามารถนำข้อมูลพฤติกรรมของประชาชนมาใช้ในการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า และเป็นการเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น”
นายกรณ์ กล่าวว่า ข้อเสนอนโยบายสำคัญต่อมา คือ การปรับโครงสร้างภาคพลังงานประกอบด้วย ธุรกิจน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า เพราะหลักๆเลยพรรคชาติพัฒนากล้าเชื่อในเรื่องของการแข่งขัน เชื่อว่าภาคเอกชนมีประสิทธิภาพในการแข่งขันและดูแลประชาชนได้ดีที่สุด ตราบเท่าที่มีการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรม เพราะปัญหาเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นจากกลไกที่มีความบกพร่องและผูกติดกับทุกปัญหา เรียกว่าเป็นโครงสร้างที่บิดเบี้ยว ฉะนั้น ภาครัฐต้องปลดล็อกให้เกิดการแข่งขันในรูปแบบที่ประชาชนได้ประโยชน์ โดยแก้ปัญหาการผูกขาดให้หมดไป ต้องทำให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้นทั้งในเรื่องน้ำมัน ก๊าซฯ และไฟฟ้า อะไรคือต้นทุนแฝงที่ทำให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นก็ควรยกเลิก
“เรื่องราคาน้ำมัน ควรยกเลิกการอ้างอิงราคาสิงคโปร์ และมาดูว่าต้นทุนของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไรและควรกำหนดราคาขายเท่าใดถึงจะเหมาะสม”
ขณะเดียวกัน ต้องปรับโครงสร้างวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าที่ไม่สมดุล เนื่องจากไทยผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ กว่า 70% และใช้พลังงานหมุนเวียนเพียง 20% จึงต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนได้เพิ่มขึ้น เช่น ในกรุงเทพฯมีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาได้อีก 6,000 เมกะวัตต์แต่ยังไม่เกิดเพราะว่าติดปัญหาสายส่ง และติดแนวคิดว่าการผลิตไฟฟ้าต้องสงวนไว้ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เอง ทำให้การผลิตไฟฟ้าพลังงานทางเลือกของ “นโยบายที่ควรสนับสนุนคือเลิกผูกขาดกิจการสายส่ง โดยตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาโดยยังคงให้ กฟผ.ถือหุ้น และเปิดโอกาสให้ประชาชนขายไฟฟ้า หรือเลือกใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกได้ ซึ่งวิธีการแบบนี้จะเกิดการแข่งขันทันที ราคาพลังงานก็จะถูกลงเพราะประชาชนสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตที่จำหน่ายไฟฟ้าในราคาถูก หรือว่าสามารถเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้โดยอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรมและโปร่งใส”.