ค้านอีกยกไม่ย้ายรถไฟไปบางซื่อ สหภาพฯ รฟท.ย้ำไม่พร้อมให้บริการ 19 ม.ค.นี้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ค้านอีกยกไม่ย้ายรถไฟไปบางซื่อ สหภาพฯ รฟท.ย้ำไม่พร้อมให้บริการ 19 ม.ค.นี้

Date Time: 17 ม.ค. 2566 07:26 น.

Summary

  • สหภาพฯ รฟท.–องค์กรผู้บริโภค บุกยื่นหนังสือถึง “ศักดิ์สยาม” ค้านไม่ให้ย้ายรถไฟทางไกลไปสถานีกลางบางซื่อ วันที่ 19 ม.ค.นี้ เพราะรถไฟและพนักงานมีไม่เพียงพอ ซ้ำทำประชาชนเดือดร้อน

Latest

“เจ้าสัวธนินท์” มองโลก มองธุรกิจ เชื่อมือ รัฐบาล ดันไทยเป็น “ฮับการเงิน” ปลุกผู้ค้าก้าวทัน AI-เทคฯ

สหภาพฯ รฟท.–องค์กรผู้บริโภค บุกยื่นหนังสือถึง “ศักดิ์สยาม” ค้านไม่ให้ย้ายรถไฟทางไกลไปสถานีกลางบางซื่อ วันที่ 19 ม.ค.นี้ เพราะรถไฟและพนักงานมีไม่เพียงพอ ซ้ำทำประชาชนเดือดร้อน ขณะที่เลขา รมว.คมนาคม ยืนยันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ด้านขนส่งเปิดสถานีกลางฯตรวจมิเตอร์แท็กซี่ ย้ำรถคันใดไม่ตรวจจะคิดราคาใหม่ไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2566 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทย นำโดยนายสราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วยองค์กรเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ได้มายื่นหนังสือถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ขอให้สั่งการตรวจสอบการย้ายขบวนรถไฟทางไกลจากสถานีกรุงเทพฯ หรือหัวลำโพง มาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนและสร้างภาระให้กับประชาชน โดยมีนางสุขสมรวย วันทนีย กุล เลขานุการ รมว.คมนาคม เป็นผู้รับหนังสือแทน

นายสราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือต่อนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ไปแล้ว ว่าไม่เห็นด้วยกับการ ย้ายรถไฟทางไกลมาที่สถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เนื่องจากไม่มีความพร้อมในด้านการปฏิบัติการและให้บริการ เช่น รถโดยสารไม่พร้อมกับการบริการ และมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการหมุนเวียนให้บริการ ห้องน้ำยังเป็นระบบเปิด รถขนส่งสาธารณะต่างๆไม่พร้อม อัตรากำลังบุคลากรไม่เพียงพอในการให้บริการ 2 แห่ง และงานเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ จากการสอบถามความเห็นของผู้ใช้บริการจริง พบว่า ประชาชนต้องการให้รถไฟยังคงเข้าถึงหัวลำโพง ไม่ใช่หยุดแค่สถานีกลางบางซื่อ แม้จะมีชัตเติลบัสมาให้บริการ แต่แผนงานนี้ไม่มีความชัดเจน ประชาชนที่ต้องการลงสถานีสามเสน รพ.รามาธิบดี และยมราช ซึ่งเดิมเป็นสถานีตามเส้นทางรถไฟจะไม่สามารถใช้บริการได้

ดังนั้น จึงต้องการให้กระทรวงคมนาคมเลื่อนการย้ายรถไฟทางไกล ไปออกต้นทาง-ปลายทาง ที่สถานีกลาง กรุงเทพอภิวัฒน์ ที่กำหนดในวันที่ 19 ม.ค.นี้ ออกไปก่อน จนกว่าจะเตรียมระบบให้บริการพร้อมก่อน และอยากให้นายศักดิ์สยาม ทบทวนนโยบายที่จะให้ย้ายรถไฟเชิงพาณิชย์จำนวน 52 ขบวน หากขบวนไหนไม่พร้อมก็ยังไม่ต้องย้าย ขอให้ไปออกที่สถานีหัวลำโพงเช่นเดิม ก่อนจนกว่าจะมีความพร้อม

ด้านนางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ชี้แจงคำถามและข้อสงสัยไปแล้ว ส่วนข้อเรียกร้องของสหภาพฯ จะเสนอ รมว.คมนาคมพิจารณาต่อไป เพื่อสั่งการให้ผู้ว่าการการรถไฟเร่งดำเนินการตามข้อห่วงใย อย่างไรก็ตาม วันที่ 19 ม.ค.นี้ คงไม่สามารถหยุดการเดินรถได้เนื่องจากได้ดำเนินการไปแล้วทั้งการขายตั๋วโดยสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อีกเรื่องหนึ่งที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก นำคณะผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการตั้งจุดให้บริการผู้ขับรถแท็กซี่ที่นำมิเตอร์มาเข้ารับการปรับจูนและตรวจรับรองความถูกต้องก่อนออกให้บริการตามอัตราค่าโดยสารใหม่ โดยมีการเปิดให้บริการทุกวันจันทร์-เสาร์ ระหว่างวันที่ 16 ม.ค.- 28 ก.พ.2566 เวลา 08.00-17.00 น. โดยมีบริษัทเอกชนร่วมให้บริการ 4 บริษัท ได้แก่บริษัท เพาเวอร์เมติค จำกัด (ยี่ห้อ Printax, Royal), บริษัท ซันไทมิเตอร์ จำกัด (ยี่ห้อ 3TM), บริษัท จีพีเอสไทยสตาร์ จำกัด (ยี่ห้อ G-Tax) และบริษัท ทีเอชที โปรเกรส ทั้งนี้ หากรถแท็กซี่มิเตอร์คันใดไม่เข้ารับการปรับจูน และตรวจรับรองความถูกต้องก่อน จะไม่สามารถคิดอัตราค่าโดยสารใหม่กับลูกค้าได้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ