สารพัดคำถาม "ช้อปดีมีคืน ปี 2566" สินค้า บริการแบบใด ลดหย่อนได้ ไม่ได้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สารพัดคำถาม "ช้อปดีมีคืน ปี 2566" สินค้า บริการแบบใด ลดหย่อนได้ ไม่ได้

Date Time: 10 ม.ค. 2566 16:00 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Latest


  • รวมคำถาม คำตอบ "ช้อปดีมีคืน ปี 2566" มาตรการที่มอบให้ประชาชนเป็นของขวัญปีใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 2566
  • สินค้า บริการแบบใด ลดหย่อนได้ ไม่ได้ แล้ว "ทองคำ" กับ "น้ำมัน" ร่วมมาตรการหรือไม่
  • ค่ารักษา-ทำศัลยกรรม หรือค่าเบี้ยประกันต่างๆ สามารถใช้ลดหย่อนตาม "ช้อปดีมีคืน ปี 2566" ได้หรือไม่

จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการการดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2566 ให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ มาตรการ "ช้อปดีมีคืน ปี 66" ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 2566

สำหรับเงื่อนไขของมาตรการ "ช้อปดีมีคืน ปี 66" นั้น กำหนดให้ผู้มีเงินได้ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท

แต่หลายคนยังไม่เข้าใจว่า มาตรการ "ช้อปดีมีคืน ปี 2566" ที่ว่านี้จะต้องลงทะเบียนหรือไม่ แล้วสินค้า บริการ อะไรที่เข้าร่วมโครงการ หรือไม่เข้าร่วมโครงการบ้าง ดังนั้นขอสรุปข้อสงสัยทั้งหมดเกี่ยวกับมาตรการ "ช้อปดีมีคืน ปี 2566" มาไว้ให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้

การให้หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไขอย่างไร

1. กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้า หรือการรับบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยแบ่งเป็น

1.1 ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบกระดาษ หรือใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร และ

1.2 ค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 10,000 บาท จากส่วนที่เกิน 1.1) จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น

ทั้งนี้ e-Tax Invoice ในที่นี้หมายความรวมถึง e-Tax Invoice by Email ด้วย และตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด


หลักเกณฑ์ของมาตรการช้อปดีมีคืน

ค่าสินค้าหรือค่าบริการไม่รวมถึง

  • ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
  • ค่าซื้อยาสูบ
  • ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
  • ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
  • ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
  • ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจ นำเที่ยวและมัคคุเทศก์
  • ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
  • ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
  • ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนดในข้อหนึ่ง เช่น ค่าสมาชิกต่างๆ
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย


ผู้มีเงินได้ต้องจ่ายค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้

  • ค่าซื้อหนังสือ
  • ค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
  • ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
  • กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการตามที่ปรากฏด้านบน จากผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับจำนวนไม่เกิน 30,000 บาท ตาม 1.1) ต้องได้รับใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบกระดาษหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ส่วนจำนวนไม่เกิน 10,000 บาท ตาม 1.2) ต้องได้รับใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เท่านั้น


ส่วนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด เช่น วิธีการใช้สิทธิโดยทั่วไป วิธีการใช้สิทธิของสามีและภริยา ข้อห้ามการใช้สิทธิของผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หลักฐานประกอบการใช้สิทธิ เป็นต้น


สินค้าหรือค่าบริการใดลดหย่อนตามมาตรการได้


1. ค่าซื้อสินค้าและค่าบริการทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้ ยกเว้นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้

  • ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
  • ค่าซื้อยาสูบ
  • ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
  • ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
  • ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
  • ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
  • ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
  • ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
  • ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนด (1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566) เช่น ค่าสมาชิกต่างๆ
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย


2. ผู้มีเงินได้ต้องจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้

  • ค่าซื้อหนังสือ
  • ค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
  • ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

นอกจากนี้ยังมีคำถามว่า ค่าซื้ออาหารในโรงแรม ค่าซ่อมรถ น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ สามารถนำมาหักลดหย่อนได้หรือไม่ คำตอบคือ "ได้" หากเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนทองรูปพรรณ สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เฉพาะค่ากำเหน็จ (ตามมูลค่าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม) เท่านั้น

กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการหลายครั้ง (มีใบกำกับภาษีหลายใบ) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 สามารถนำมูลค่าการซื้อสินค้าหรือการรับบริการแต่ละครั้งมารวมกันเพื่อใช้สิทธิได้ หากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในแต่ละครั้งมีมูลค่าไม่ถึงที่กำหนดในแต่ละกรณี 


แพ็กเกจทัวร์ท่องเที่ยว ลดหย่อนได้หรือไม่

ค่าซื้อแพ็กเกจทัวร์ท่องเที่ยวในประเทศ ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ เนื่องจากการค่าบริการนั้นไม่รวมถึงค่าบริการจัดนำเที่ยว นอกจากนี้กรณีจ่ายค่าที่พักโรงแรม หรือจ่ายค่าบริการนำเที่ยวระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ก็ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ เนื่องจากการค่าบริการนั้นไม่รวมถึงค่าที่พักโรงแรมและค่าบริการจัดนำเที่ยว

เช่นเดียวกับค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าซื้อประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ประกันสุขภาพ หรือประกันรถยนต์ ก็ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เช่นกัน เนื่องจากค่าซื้อประกันชีวิต เป็นบริการที่ไม่อยู่บังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 

ส่วนที่หลายคนตั้งคำถามว่า กรณีมีสัญญาใช้บริการระยะยาวที่มีระยะเวลาสัญญาเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2566 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีส่วนที่ชำระและใช้บริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 สามารถนำค่าบริการเฉพาะส่วนที่ใช้บริการในช่วงเวลาดังกล่าวมาหักลดหย่อนได้หรือไม่ ต้องบอกว่า "ไม่ได้" เนื่องจากเป็นค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2566 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เช่นเดียวกับกรณีชำระค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 แต่มาใช้บริการหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ก็ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เช่นกัน


ค่ารักษา-ทำศัลยกรรม ลดหย่อนได้หรือไม่


กรณีค่ารักษาพยาบาลหรือค่าทำศัลยกรรม ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ เนื่องจากการให้บริการของสถานพยาบาลได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอันเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิ

นอกจากนี้ บริการที่ยังไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ยังมี ค่าซื้อบัตรเพื่อแลกรับบริการ เนื่องจากการขายบัตรเพื่อแลกรับบริการไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายบัตรเพื่อแลกรับบริการไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอันเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิ แต่หากนำบัตรเพื่อแลกรับบริการไปแลกรับบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งคำนวณเป็นจำนวนเงินและออกใบกำกับภาษีได้ สามารถนำใบกำกับภาษีมาเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิ รวมทั้ง ค่าซื้อบัตรของขวัญของห้างสรรพสินค้า (Gift voucher) ค่าซื้อบัตรของขวัญ (Voucher) สำหรับค่าซื้ออาหารของโรงแรม หรือบัตรเติมเงินค่าโทรศัพท์ ก็นำมาลดหย่อนไม่ได้ 


หลักฐานสำหรับใช้สิทธิหักลดหย่อน


สำหรับหลักฐานที่ใช้ คือ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร (ใบกำกับภาษีที่มีข้อความระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ) เว้นแต่สินค้าหรือบริการดังต่อไปนี้ที่ซื้อมาจากผู้ประกอบการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องมีหลักฐานใบรับซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรพร้อมระบุชื่อและนามสกุลของผู้มีเงินได้

1. หนังสือ
2. หนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
3. สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว


โดยใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรที่สามารถนำมาเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิหักลดหย่อนหมายถึง ใบกำกับภาษีที่มีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้


1. คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
4. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี (ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด เช่น คำว่าเอกสารออกเป็นชุด สำเนาใบกำกับภาษี ฯลฯ)

ส่วนใครที่ถามว่า ใบกำกับภาษีมีข้อความไม่สมบูรณ์ เช่น เขียนชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการแก้ไขสามารถนำมาเป็นหลักฐานได้หรือไม่ ต้องบอกว่า หากใบกำกับภาษีนั้นมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แม้จะมีการเขียนชื่อหรือที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการแก้ไขข้อความ ก็สามารถนำมาเป็นหลักฐานได้ ขณะที่ผู้ซื้อมีที่อยู่ตามบัตรประชาชนกับที่อยู่ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแตกต่างกันนั้น สามารถใช้ที่อยู่ตามบัตรประชาชน หรือที่อยู่ปัจจุบันก็ได้

แต่หากใบกำกับภาษี มีชื่อผู้ซื้อสินค้าหลายคนนั้น ไม่สามารถหักลดหย่อนได้ โดยใบกำกับภาษีต้องมีชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการเพียงคนเดียวเท่านั้น

กรณีใบกำกับภาษีมีทั้งรายการสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จะหักลดหย่อนอย่างไรนั้น สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เฉพาะค่าซื้อสินค้าและค่าบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่สินค้าหรือบริการดังต่อไปนี้สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ แม้จ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

1. หนังสือ
2. หนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
3. สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

ขณะที่ใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากรที่สามารถนำมาเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิหักลดหย่อนหมายถึง ใบรับที่มีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 105 ทวิแห่งประมวลรัษฎากรดังต่อไปนี้ พร้อมชื่อและนามสกุลของผู้มีเงินได้

1. เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบรับ
2. ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ออกใบรับ
3. เลขลำดับของเล่มและของใบรับ
4. วันเดือนปีที่ออกใบรับ
5. จำนวนเงินที่รับ
6. ชนิด ชื่อ จำนวนและราคาสินค้าในกรณีการขายสินค้าที่มีราคาตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถขอรับใบกำกับภาษีในรูปแบบ e-Tax Invoice หรือใบรับในรูปแบบ e-Receipt ต่อผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากร ซึ่งโดยทั่วไปผู้ประกอบการจะจัดส่งไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ให้ทางอีเมล และสามารถขอให้ผู้ประกอบการจัดพิมพ์ในรูปแบบกระดาษด้วยได้ แต่ไม่ต้องนำส่งให้แก่กรมสรรพากร โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่เข้าร่วม e-Tax Invoice และ e-Receipt ได้ที่ เว็บไซต์กรมสรรพากร.

เรียบเรียง : เจ๊ดา วิภาวดี
กราฟิก :  Varanya Phae-araya


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ