ใช้ดิจิทัลเก็บภาษี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ใช้ดิจิทัลเก็บภาษี

Date Time: 10 ม.ค. 2566 05:40 น.

Summary

  • “ภาษี” เป็นเรื่องปวดตับ ปวดหัว ของใครหลายคน นั่นอาจเป็นเพราะเป็นภาษาที่เข้าใจยาก ขั้นตอนซับซ้อนยุ่งยาก ทำให้หลายคนขยาดในการชำระภาษี แม้ภาษีจะเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนก็ตาม

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“ภาษี” เป็นเรื่องปวดตับ ปวดหัว ของใครหลายคน นั่นอาจเป็นเพราะเป็นภาษาที่เข้าใจยาก ขั้นตอนซับซ้อนยุ่งยาก ทำให้หลายคนขยาดในการชำระภาษี แม้ภาษีจะเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนก็ตาม

เพราะฉะนั้นต้องปรับทัศนคติของคนไทยอีกหลายๆคน ถ้าทุกคนไม่เสียภาษี รัฐจะนำรายได้จากที่ไหนมาบริหารประเทศ ภารกิจสาธารณะหลายประการที่รัฐจำเป็นต้องใช้เงินบริหารจัดการ เช่น การระบาดของไวรัสโควิด ก็ต้องนำเงินไปซื้อวัคซีนมาระดมฉีดให้ประชาชน นำมาลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย เป็นต้น

ตามโครงสร้างการจัดเก็บภาษีนั้น แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ภาษีที่ผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษี เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย เป็นต้น

ส่วนภาษีที่จัดเก็บจากผู้ประกอบการ ผู้ขาย ผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งผู้เสียภาษีส่วนใหญ่ผลักภาระภาษีไปให้ผู้บริโภคด้วยการบวกไว้ในราคาสินค้าแล้ว เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ เป็นต้น

โดยปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา งบประมาณรายจ่าย 3.10 ล้านล้านบาท จัดเก็บรายได้สุทธิ 2.55 ล้านล้านบาท ส่วนปี 2566 งบประมาณรายจ่าย 3.10 ล้านล้านบาท มีเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ 2.49 ล้านล้านบาท

เพราะฉะนั้นเมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐก็ต้องจัดเก็บรายได้เพื่อรักษาสมดุลรายรับกับรายจ่าย ทั้งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประ สิทธิภาพการจัดเก็บ การตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพื่อให้การเสียภาษีของประชาชน ผู้ประกอบธุรกิจ เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตรงไปตรงมา

ขณะเดียวกัน ต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษี ด้วยการลดขั้นตอน ลดความสลับซับซ้อน ทำแบบฟอร์มให้เข้าใจง่ายๆไม่เป็นภาระ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีได้พัฒนาและปรับปรุงระบบการเสียภาษีมาตลอด ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ทุกระบบภาษี ทั้งการชำระภาษีผ่านระบบออนไลน์ การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อลดการจัดเก็บเอกสาร เพราะผู้เสียภาษีต้องจัดเก็บภาษีตั้งแต่ต้นปี แล้วนำมาเสียภาษีในปีถัดไป

ล่าสุดกรมสรรพากร ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดเก็บรายได้ จึงเตรียมเชื่อมระบบชำระภาษีกับระบบเพย์เมนต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้ชื่อว่า “พร้อมบิส :Prompt Biz” เพื่อขยายฐานการชำระภาษีเงินได้จากภาคธุรกิจ

โดยเชื่อว่า ระบบพร้อมบิสจะเปลี่ยนโฉมการชำระเงินของภาคธุรกิจและการชำระภาษีของภาคธุรกิจด้วยการนำระบบ e-Tax Invoice เข้าไปเชื่อมกับระบบพร้อมบิส จะทำให้รับรู้ข้อมูลของภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การชำระภาษีที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย ลดการหลบเลี่ยงการเสียภาษีได้ด้วย

นอกจากจะช่วยให้การเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ยังจะช่วยตรวจสอบการคืนภาษีได้อย่างรวดเร็วด้วย เช่น การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 6 เดือน จะเปลี่ยนเป็นภายใน 7 วันเท่านั้น

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการทำธุรกิจยุคปัจจุบันดำเนินการผ่านระบบออนไลน์เกือบทั้งหมด ทั้งการชำระเงินต่างๆก็ผ่านระบบออนไลน์ แต่ภาคธุรกิจที่ใช้ระบบ e-Tax Invoice น้อยมาก โดยนิติบุคคลราว 500,000 ราย ใช้ระบบ e-Tax Invoice เพียง 10% เพราะเป็นเรื่องยุ่งยาก ต้นทุนสูง ภาคธุรกิจต้องลงทุนระบบซอฟต์แวร์บัญชี ขณะที่กรมสรรพากรยังต้องใช้ระบบกระดาษ ดังนั้น จึงเร่งแก้ปัญหาด้วยการเชื่อมระบบข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆเพื่อลดการใช้กระดาษ

ในช่วงที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้หารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่หลายกลุ่ม เพื่อเชิญชวนให้เข้าสู่ระบบ e-Tax Invoice โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง ซึ่งพร้อมจะร่วมมือเพื่อนำร่องนำระบบดังกล่าวมาใช้ และกรมอยู่ระหว่างปรับหลักเกณฑ์ผู้ให้บริการ (Service provider) นำส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ e-Tax Invoice และ e-Receipt ใหม่ เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกในการเสียภาษี จึงเชื่อว่าในระยะต่อไปผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย รายเล็ก จะเข้าสู่ระบบเอง เพราะสะดวกสบาย ลดต้นทุน ยังได้รับคืนภาษีอย่างรวดเร็วด้วย

และ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 ประเทศไทยมีประชากรตามหลักเกณฑ์ระเบียนราษฎร มีสัญชาติไทย 65.10 ล้านคน และไม่ได้สัญชาติไทยอีก 983,994 คน โดยมีผู้อยู่ระบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา 10 ล้านคน และยังได้รับลดหย่อนต่างๆตามมาตรการรัฐ ทำให้มีผู้เสียภาษีจริงๆเพียง 3-5 ล้านคน

ทั้งนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อศึกษาการเชื่อมระบบภาษีกับระบบสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยคัดกรองประชาชนที่มีรายได้ตามเกณฑ์ต้องเสียภาษีกับประชาชนผู้ไม่ต้องเสียภาษี

“วันนี้มีผู้อยู่ระบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10 ล้านคน แต่ไม่ได้เสียภาษีทั้งหมด เพราะรายได้ไม่ถึง ได้รับการลดหย่อนตามมาตรการ ถ้านำระบบสวัสดิการแห่งรัฐเข้ามาเพิ่มอีกกว่า 20 ล้านคน นำระบบมาช่วยคัดกรอง แยกประเภท อาจเหลือ 16-19 ล้านคน ซึ่งก็อาจจะทำให้มีฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้น” นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว

หากประชาชนมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี ก็ไม่ต้องเสียภาษี และเมื่อมีรายได้ต่ำเข้าสู่เส้นทางความยากจน ก็จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐสวัสดิการ หากแยกประเภทผู้มีรายได้ชัดเจน เชื่อว่าจะช่วยขยายฐานภาษีโดยอัตโนมัติ และรัฐจะได้ช่วยเหลือประชาชนอย่างตรงกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด.

ดวงพร อุดมทิพย์ 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ