นับตั้งแต่ “ไทยเป็นเจ้าภาพ ประชุมผู้นำเอเปก 2022” ที่ผลักดันแผนขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย–แปซิฟิก กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการเสริมเขี้ยวเล็บความเชื่อมั่นสู่บทบาทในเวทีเศรษฐกิจโลก
เปิดช่องทางเพิ่มโอกาสให้ “นักลงทุนต่างชาติ” หันมาสนใจเลือกใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบ และฐานการผลิตที่มีความหลากหลายทำให้ “อีอีซี” มีแนวโน้มดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น “ต่อยอดการเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค” ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการลงทุนเศรษฐกิจ
ด้านโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการเป็นศูนย์รวมผู้มีศักยภาพจากทั่วโลก เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฯ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้กลายเป็นความท้าทายให้ “สถาบันการศึกษาไทย” ต้องยกระดับพัฒนาทักษะที่เพียงพอ ตอบโจทย์โลกการทำงานยุคใหม่
ในการ “สร้างคนรุ่นใหม่” เข้าสู่ตลาดแรงงานตามสายงานที่ต้องการในปัจจุบัน ทำให้ไม่นานนี้ “สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สสส. และ อว.” ได้จัดเวทีปาฐกถาพิเศษหัวข้อบทบาทของมหาวิทยาลัยกับการดูแลนิสิตนักศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมสู่วัยแรงงานในอนาคต
ศ.ดร.จำเนียร จวงตระกูล ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร สสส. บอกว่า การดูแลนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอยู่ในวัยหนุ่มสาวที่เป็นช่วงกำลังอยากรู้อยากเห็น และแสวงหาความเป็นตัวตนสู่ทิศทางต่อการเดินไปในอนาคต
โดยเฉพาะ “ระดับปริญญาตรี” เป็นกลุ่มที่กำลังค้นหาตัวตนเพื่อก้าวไปสู่การประกอบอาชีพ ในส่วน “ปริญญาโท” เป็นวัยทำงานกลับมาเรียน เพื่อสร้างเสริมเพิ่มความสามารถเรียนรู้ทักษะนำไปใช้กับตำแหน่งงานนั้น “ปริญญาเอก” ต้องการเตรียมตัวสู่การเป็นนักวิจัยมุ่งเป็นอาจารย์ เพื่อสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาใหม่
เหตุนี้จึงมองว่า “การดูแลนิสิตนักศึกษาเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาประเทศ” เพราะด้วยมหาวิทยาลัยนั้น “เป็นสถาบันในการพัฒนาทุนมนุษย์ให้แก่นิสิตนักศึกษา” เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการก้าวสู่ “วัยแรงงาน” แล้วนำความรู้ไปสร้างชาติพัฒนาประเทศในอนาคต
ทว่า “องค์ประกอบทุนมนุษย์” ตามทฤษฎีชาติตะวันตกแยกเป็นส่วนสำคัญ 10 ประการ คือความรู้ ความสามารถ ความสามารถพิเศษ ทักษะ การศึกษา การอบรม ความคิดสร้างสรรค์ ปัญญา ดุลพินิจ ประสบการณ์
ถ้าสังเกตดูดีๆในจำนวน 10 ส่วนนี้ “สิ่งที่ขาดหายไปนั้น คือสุขภาวะจิตใจ และจิตวิญญาณ” เป็นเรื่องสำคัญที่มหาวิทยาลัยต้องเพิ่มประเด็นนี้เข้าไปในระบบการศึกษาด้วย เพราะหากมนุษย์มีร่างกายครบถ้วนแต่สุขภาพจิตใจไม่แข็งแรงสมบูรณ์ก็ไม่สามารถนำทุนมนุษย์ที่มีอยู่ พร้อมออกมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้
เหตุนี้ประเทศที่พัฒนามีรายได้สูงนั้นมักทุ่มงบประมาณลงทุนสร้างทุนมนุษย์ให้มีคุณภาพสูง แล้วประเทศมีรายได้สูง 10 อันดับในปี 2022 คือ โมนาโค ลิกเตนสไตน์ ลักเซมเบิร์ก สวิตเซอร์แลนด์ มาเก๊า ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ อเมริกา เดนมาร์ก สิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่เพิ่งถูกประกาศให้เป็นประเทศมีรายได้สูงเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา
อันที่จริงแล้ว “ประเทศไทย” มีแนวคิดในการพัฒนาประเทศมาตั้งแต่ปี 2475 เริ่มพัฒนากันจริงๆในปี 2540 จนมาถึงวันนี้ยังขับเคลื่อนก้าวไปได้ไม่ถึงที่สุดนัก เพราะเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศนั้น “ต้องเป็นประเทศแห่งอุตสาหกรรม” เพื่อให้ประชาชนเกิดการมีรายได้ที่สูงก่อนนั้น
สิ่งนี้ทำให้ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศกำลังพัฒนามา 20 ปีแล้วคนส่วนใหญ่ก็มีรายได้ปานกลางเฉลี่ย 2.4 แสนบาทต่อคนต่อปี ในส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วมีรายได้ 4.6 แสนต่อคนต่อปี ดังนั้น เราจำเป็นต้องผลักดันให้คนไทยมีรายได้เพิ่มอีก 44% ต่อคนต่อปี เพื่อให้ก้าวสู่ประเทศพัฒนาตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ในปี 2570
ฉะนั้น การที่ “จะก้าวเป็นประเทศพัฒนามีรายได้สูงในปี 2570” ต้องเพิ่มรายได้เฉลี่ยอีก 44% หรือ 2.2 แสนบาทต่อคนต่อปี ด้วยการเร่งพัฒนาทุนมนุษย์ “สร้างคนให้มีคุณภาพสูง” โดยเฉพาะกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือสถาบันการศึกษา เป็นหน่วยงานรากฐานสำคัญในการพัฒนาคนสู่วัยแรงงานนั้น
จริงๆแล้ว “การพัฒนาทุนมนุษย์” ควรต้องเริ่มจาก “ระดับครอบครัว” ในการเลี้ยงดูให้เป็นพลเมืองที่มีสุขภาพดี ทั้งการสนับสนุนให้ได้รับการศึกษา และส่งเสริมให้มีการวางแผนชีวิตตามความถนัด
เมื่อเรียนจบก็เข้า “ระดับปัจเจกบุคคล” สู่วัยทำงานตามเป้าหมายเส้นทางเดินอาชีพ โดยมี “ระดับองค์การ” เป็นตัวส่งเสริมสนับสนุนให้เข้าสู่ตำแหน่งงาน และการลงทุนการพัฒนาทุนมนุษย์ของพนักงานให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ทั้งจ้างงานอย่างมีคุณภาพโดยมีค่าตอบแทนสวัสดิการและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี
สุดท้ายคือ “ระดับชาติ” ต้องมีการส่งเสริมการจ้างงานที่มีคุณภาพ โดยมีค่าตอบแทนและสวัสดิการ รวมถึงจัดสรรงบประมาณลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคตด้วย
ฉะนั้น “ผลลัพธ์จากการพัฒนาทุนมนุษย์นี้” ทำให้ประชาชนมีชีวิตเป็นอยู่ที่ดีมีคุณภาพชีวิตในระดับสูง “อันจะก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง” มีความสามารถในการแข่งขันของชาติ จึงเห็นได้ว่าการพัฒนาทุนมนุษย์นั้น “มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่มหลายระดับ” ตั้งแต่ครอบครัวถึงระดับชาติด้วยซ้ำ
ย้ำดังที่กล่าวไปแล้ว “การพัฒนาทุนมนุษย์” ต้องทำให้ครบทุกส่วนทั้งด้านสุขภาวะ ด้านร่างกาย และวิญญาณ เพราะแม้ว่าปัจเจกบุคคลจะมีทุนมนุษย์พร้อม 10 ด้าน แต่ถ้าสุขภาพและจิตใจไม่สมบูรณ์ก็ไม่สามารถนำทุนมนุษย์ที่มีอยู่พร้อมออกมาใช้ให้ประโยชน์ได้เลย แล้วปัจจุบันนี้สุขภาพนักศึกษาไทยก็อยู่ในสภาพที่น่าห่วงใย
ตามผลสำรวจสุขภาพนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยปรากฏพบว่า “นักศึกษามีความเครียดสูง” โดยกว่าร้อยละ 4 ของนิสิตนักศึกษาทั้งหมดเคยคิดฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้งถึงตลอดเวลา และร้อยละ 12 เคยลงมือทำร้ายร่างกายตนเองแล้วในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 1.3 ที่ได้ลงมือทำร้ายร่างกายตนเองบ่อยครั้งถึงตลอดเวลาด้วยซ้ำ
เหตุนี้จำเป็นต้องเน้นจุดสนใจมาที่ “นักศึกษา” เพื่อเตรียมพร้อมสู่วัยแรงงานให้มีทุนมนุษย์คุณภาพ รวมทั้งมีความพร้อมด้านสุขภาวะ ดังนั้น “มหาวิทยาลัย” ต้องบริหารด้วยการนำนักศึกษาเป็นศูนย์กลางในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีทุนมนุษย์ครบทุกส่วนทุกด้านของสุขภาวะทั้งด้านร่างกาย และจิตใจให้เกิดขึ้นแก่คนทุกช่วงวัย
จึงจะสามารถสร้างคนเพื่อสร้างชาติได้ตามเป้าหมายในการพัฒนาประเทศตามรัฐบาลได้กำหนดไว้
เช่นนี้ อยากชวนมาดู “มหาวิทยาลัยในไทยนั้นมีความพร้อมระดับใด...?” ปัจจุบันก็ค่อนข้างตกที่นั่งลำบากต้องเผชิญ “ปัญหารอบด้าน” โดยเฉพาะด้านประชากรศาสตร์จาก “จำนวนเด็กทารกเกิดใหม่ลดลง” ทำให้ปัจจุบันนี้ “คนเรียนน้อยตามลงเรื่อยๆ” กลายเป็นไม่สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น
สังเกตได้จาก “บางแห่งสร้างตึกขนาดใหญ่สูง 6–7 ชั้น” แต่กลับไม่มีนักศึกษาเข้าใช้งานเลยด้วยซ้ำ ดังนั้น มหาวิทยาลัยกำลังเผชิญความท้าทายภายในและภายนอกในการบริหารการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้
อยากเสนอไว้ว่า “การดูแลนิสิตนักศึกษานั้นมิใช่ดูแลเฉพาะในสถาบันเท่านั้น” แต่จำเป็นต้องดูแลให้ครบรอบด้านทุกมิติ ทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก และภายใน เข้ามาสร้างทุนมนุษย์ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นสมอง หัวใจ และการลงมือปฏิบัติ เพื่อจะสามารถก้าวไปสู่สังคมอุดมปัญญานำพาสู่สังคมอุดมสุขต่อไป
ฉะนั้น “ประเทศไทย” จำเป็นต้องมีทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพสูงแก่ “นิสิตนักศึกษา” เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2570 ตามเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้แล้วนั้น.